วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2558

การประเมินผลการเรียนรู้


เอกศักดิ์ บุตรลับ (2537 : 389 395) ได้รวบรวมเกี่ยวกับการประเมินผลการเรียนรู้ไว้ดังนี้

การประเมินผล (Evaluation)

            กรมสามัญศึกษา  กระทรวงศึกษาธิการ (2522 : 1)  ให้ความหมายไว้ว่า การประเมินผล หมายถึงกระบวนการพิจารณาตัดสินใจในข้อมูลที่ได้จากการวัดว่า เป็นที่ต้องประสงค์หรือมีค่านิยมถูกต้องหรือไม่มากน้อยเพียงใด การประเมินผลจำเป็นต้องมีเป้าหมายหรือเกณฑ์ไว้ก่อนแล้ว จึงนำข้อมูลที่ได้จากการวัดนั้นมาประเมินในทิศทางตามเป้าหมายมากน้อยเพียงใด

            บุญเชิด ภิญโญอนันตพงษ์ (2521 :6) กล่าวว่า การประเมินผลเป็นกระบวนการที่กระทำต่อจากการวัดผล และวินิจฉัย ตัดสิน สรุปคุณค่าที่ได้จากการวัดอย่างมีหลักเกณฑ์

            เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ และอเนกกุล กรีแสง (2517 : 7) ให้ความหมายการประเมินผลเป็นการใช้   วิจารณญาณตัดสินคุณค่า โดยอาศัยการวัดผลเป็นเครื่องช่วย

            สรุปได้ว่า การประเมินผลเป็นขบวนการพิจารณาตัดสินใจในข้อมูลที่ได้จากการวัดผลว่า สิ่งนั้นหรือบุคคลนั้นดีหรือเลว เก่งหรืออ่อน สอบได้หรือสอบตก เป็นต้น

จุดประสงค์ของการวัดผลและประเมินผลการศึกษา   

            ในการวัดผลและประเมินผลการศึกษานั้น มีจุดประสงค์ที่สำคัญดังนี้ (ลำพอง บุญช่วย ม.ป.ป. : 214-215)

            1. เพื่อการคัดเลือก (Selecion) การพิจารณารับนักเรียนเข้าเรียน ต้องอาศัยการวัดผลและประเมินผลกรรมเพื่อให้ได้บุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุด

            2. เพื่อจำแนกบุคคล (Classification) การจำแนกบุคคลออกเป็นพวกเก่งอ่อน สอบได้ สอบตก หรือการให้เกรดเป็น A B C D E ก็ต้องอาศัยการวัดผลประเมินผลทั้งสิ้น

            3. เพื่อวินิจฉัย (Diagnosis) การวัดผลและประเมินผลจะช่วยให้ครูสามารถวินิจฉัยได้ว่า เด็กคนใดเก่ง อ่อนด้านใด ซึ่งทำให้มองเห็นวิธีแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆได้

            4. เพื่อประเมินความก้าวหน้า (Assessment) การที่จะทราบได้ว่าผู้เรียนมีความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมไปจากเดิมหรือไม่ เพียงใดนั้น จำเป็นต้องอาศัยการวัดผลประเมินผลเป็นเครื่องชี้ โดยมีการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน แล้วนำมาเปรียบเทียบกันดู ก็จะทำให้ทราบความก้าวหน้าของผู้เรียนได้

            5. เพื่อทำนาย (Prediction) การวัดผลและประเมินผลช่วยให้ได้ข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับผู้เรียน ซึ่งสามารถนำมาประกอบในการพิจารราว่า นักเรียนคนใดควรเรียนอะไร ได้ดีในอนาคต ซึ่งจำเป็นสำหรับการแนะแนวเป็นอย่างยิ่ง

            6. เพื่อจูงใจในการเรียนรู้ (Motivating Learning) การวัดผลและประเมินผลเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความสนใจในการเรียน เกิดความพยายาม โดยเฉพาะเมื่อมีการทดสอบแล้ว ผู้เรียนได้ทราบผลการสอบของตนย่อมทำให้เกิดความกระตือรือร้นในการเรียน

            7. เพื่อประเมินวิธีการสอนของครู (Evaluation of Treatment) การวัดผลและประเมินผลที่ดีจะต้องวัดผลทั้งตัวผู้เรียนและตัวครู ทั้งนี้เพราะการที่ผู้เรียนไม่ประสบความสำเร็จ อาจเกิดจากวิธีการสอนของครูที่ใช้ไม่ดี วัสดุอุปกรณ์ไม่เหมาะสม ดังนั้นการวัดผลและประเมินผลวิธีการสอนของครูจึงมีความจำเป็น

            8. เพื่อรักษามาตรฐาน (Maintaining Standard) ในการผลิตกำลังคนของสถาบันต่างๆ จำเป็นต้องคำนึงถึงคุณภาพ วิธีการอันหนึ่งที่จะใช้ในการรักษามาตรฐานก็ได้แก่ การวัดผลและประเมินผลนั่นเอง

ประโยชน์ของการวัดผลและประเมินผลการเรียนการสอน

            การวัดผลและประเมินผลการเรียนการสอน เป็นกระบวนการที่สำคัญในการจัดการเรียนการสอน เพราะก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ คือ (กรมสามัญศึกษา 2522 :8)

            1. การประเมินผลช่วยการตัดสินใจในด้านการเรียนการสอน ผลที่ได้จากกระบวนการวัดผลและประเมินผล จะเป็นข้อมูลย้อนกลับที่นำมาใช้ในการปรับปรุงการเรียนการสอน

            2. การประเมินผลช่วยตัดสินใจในด้านการแนะแนว ปกตินักเรียนมักจะมีปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาต่อ การเลือกอาชีพ และปัญหาส่วนตัวอยู่เสมอ ซึ่งการวัดผลจะช่วยในเรื่องนี้ได้ ด้วยการใช้แบบทดสอบชนิดต่างๆ

            3. การประเมินผลช่วยตัดสินใจด้านการบริหาร การประเมินผลการเรียนการสอนจะช่วยให้ผู้บริหารทราบว่า ควรจะแก้ไขปรับปรุงกลไกการบริหารงานของสถานศึกษาอย่างไร

            4. การประเมินผลช่วยตัดสินใจด้านการวิจัย การวิจัยในด้านการเรียนการสอน การแนะแนวและการบริหาร ย่อมต้องอาศัยข้อมูลพื้นฐานจากการวัดผลและประเมินผล หรือเครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในงานวิจัยได้ด้วย

ประเภทของการประเมินผล

การจำแนกประเภทของการประเมินผลนั้น จะจำแนกออกเป็นกี่ประเภทขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่ง โดยทั่วๆ ไปแล้วมีเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่งประเภทของการประเมินผลอยู่ 2 เกณฑ์

            1. จุดประสงค์ของการประเมินผล แบ่งออกได้เป็น

                        1.1 การประเมินผล เพื่อปรับปรุงการเรียนการสอน (Formative Evaluation)

                        1.2 การประเมิล เพื่อตัดสินผลการเรียน (Summative Evaluation)

            2. จำแนกตามระบบการวัดผล แบ่งออกได้เป็น

                        2.1 การประเมินผลแบบอิงกลุ่ม (Norm-referenced Evaluation)

                        2.2 การประเมินผลแบบอิงเกณฑ์ (Criterion-referenced Evaluation)



อุษา คงทอง และคณะมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

(http://acad.vru.ac.th/pdf-handbook/Hand_Teacher.pdf.pdfได้กล่าวถึงการประเมินผลการเรียนรู้ไว้ดังนี้...
1.วิธีการประเมินผลการเรียนรู้
การประเมินผลการเรียนรู้ตามแนวการปฏิรูปการศึกษาเน้นการประเมินตามสภาพจริง มีวิธีการดังนี้
       1) สังเกตการแสดงออกเป็นรายบุคคลหรือรายกลุ่ม
       2) ชิ้นงาน ผลงาน รายงาน
       3) การสัมภาษณ์
       4) บันทึกของผู้เรียน
       5) การประชุมปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างผู้เรียนและผู้สอน
       6) การวัดและประเมินผลภาคปฏิบัติ (Practical assessment)
       7) การวัดและประเมินผลด้านความสามารถ (Performance assessment)
       8) การวัดและประเมินผลการเรียนรู้โดยใช้แฟ้มผลงาน (Portfolio assessment)
       9) อื่นๆ
          จะเห็นได้ว่าการประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริงต้องใช้วิธีการที่หลากหลาย มิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะการประเมินโดยใช้แฟ้มผลงานเท่านั้น หรือกล่าวได้ว่าการประเมินโดยใช้แฟ้มผลงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการประเมินตามสภาพจริง และควรเข้าใจว่า การประเมินตามสภาพจริงให้ความสำคัญกับการประเมินผลการเรียนรู้ที่ต้องกระทำควบคู่ไปกับการจัดการเรียนรู้ ดังนั้น การประเมินจากการปฏิบัติงานจึงเป็นหัวใจของการประเมินตามสภาพจริง หลักฐานหรือร่องรอยของการปฏิบัติงาน รวมทั้งบันทึกความรู้สึกนึกคิดที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน ฯลฯ ที่รวบรวมไว้ ซึ่งเรียกว่าแฟ้มผลงาน จึงเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญของการประเมินตามสภาพจริง
            ในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่สะท้อนถึงความสามารถจริงของผู้เรียนนั้น จะเห็นได้ว่าการวัดและประเมินผลภาคปฏิบัติ ด้านความสามารถ และโดยใช้แฟ้มผลงาน มีความสำคัญยิ่ง ซึ่งข้อมูลที่นำมาใช้ในการประเมินต้องมาจากแหล่งที่หลากหลาย เช่น จากผลงานการทำแบบฝึกหัดหรือโครงงาน จากการสังเกต จากการสัมภาษณ์ จากการสอบในลักษณะต่างๆ และจากการบันทึกของผู้เรียน ผู้สอน ผู้ปกครอง เป็นต้น
2.ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการประเมินผลการเรียนรู้
ผู้มีหน้าที่ในการประเมินผลการเรียนรู้ตามแนวการปฏิรูปการศึกษา มีขอบเขตครอบคลุมตัวบุคคลกว้างขวางกว่าการปฏิบัติแต่เดิมที่เน้นให้ผู้สอนเป็นผู้ประเมิน ซึ่งควรประกอบด้วย ตัวผู้เรียน เพื่อนของผู้เรียน ผู้สอนผู้สอน พ่อแม่ผู้ปกครองของผู้เรียน และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ (ถ้ามี) เช่น บุคคลผู้เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือ วิทยากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรับรู้การปฏิบัติงานของผู้เรียน เป็นต้น บุคคลต่างๆ เหล่านี้อาจมีบทบาทและความสำคัญ ในการประเมินตามสภาพจริงแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับผลการเรียนรู้ที่ประเมิน มากน้อยเพียงไร ซึ่งควรพิจารณาเป็นกรณีๆ ไปจากที่กล่าวมาจะเห็นว่าการประเมินผลการเรียนรู้ตามแนวการปฏิรูปการศึกษานั้น ให้ความสำคัญกับการประเมินตามสภาพจริงในกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่มุ่งสู่การพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะ 3 ด้านอย่างเป็นบูรณาการกัน ทั้งด้านความรู้ความคิด ด้านทักษะกระบวนการและด้านเจตคติ คุณธรรม จริยธรรมและค่านิยม ภายใต้มาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดขึ้นตามธรรมชาติของกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ ทำการประเมินอย่างต่อเนื่อง ด้วยวิธีการที่เข้าถึง สภาพจริงของการเรียนรู้โดยอาศัยผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย รวมทั้งตัวผู้เรียนเองด้วย และมุ่งใช้
ผลของการประเมินเพื่อการพัฒนาและการปรับปรุงผู้เรียนเป็นสำคัญ
3.วิธีการให้คะแนนในการประเมินตามสภาพจริง
            การประเมินผลการเรียนรู้ตามแนวการปฏิรูปการศึกษาให้ความสำคัญค่อนข้างมากกับการให้คะแนนแบบ รูบริค (Rubric scoring) ซึ่งมีความเป็นปรนัยสูง และใช้ประโยชน์ในด้านการให้ข้อมูลป้อนกลับได้ดี แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าในการประเมินจะต้องใช้การให้คะแนนแบบรูบริคเสมอไป เนื่องจากในการประเมินบางกรณี เช่น การสอบด้วยข้อสอบแบบปรนัยอาจต้องใช้การให้คะแนนแบบถูกผิดชัดเจน (ระบบ 0-1) การประเมินคุณภาพหรือคุณลักษณะบางอย่างอาจใช้มาตรประมาณค่า (Rating scales) เป็นต้น วิธีการให้คะแนนแบบต่างๆ มีดังนี้
            1. การให้คะแนนแบบไม่ชัดเจน (ตามใจผู้ประเมิน) เช่น ในการตรวจให้คะแนนโครงงาน หรือเรียงความหรือชิ้นงานหรือรายงานหรือข้อสอบอัตนัย ฯลฯ ถ้ากำหนดคะแนนเต็มเป็น 10 คะแนน ผู้ตรวจอาจใช้เกณฑ์ในใจซึ่งเป็นไปตามอคติของผู้ตรวจ ตัดสินให้คะแนนตามที่เห็นสมควรเป็น 0, 5, 8 คะแนน เป็นต้น จึงมีแนวโน้มที่จะเกิดความลำเอียงได้ง่ายการให้คะแนนเช่นนี้เป็นการยากต่อการแปลความหมายหรือกล่าวได้ว่า ขาดความเป็นปรนัย(Objectivity) เป็นอย่างยิ่ง
            2. การให้คะแนนแบบถูกผิดชัดเจน เช่น ในการตรวจข้อสอบแบบปรนัย เมื่อตอบถูกตามเฉลยก็ได้คะแนนเต็ม แต่เมื่อตอบผิดก็ไม่ได้คะแนนดังที่ใช้ในการตรวจข้อสอบแบบถูกผิดแบบจับคู่ หรือแบบตัวเลือก เป็นต้น
            3. การให้คะแนนแบบมาตรประมาณค่า (Rating scales) เป็นการให้คะแนนตามช่วงของความถูกต้องของคำตอบ หรือการแสดงพฤติกรรม หรือคุณภาพของชิ้นงาน เช่นในมาตรประมาณค่า 5 ช่วง หรือ 3 ช่วง ฯลฯ เมื่อตอบถูกมากที่สุดหรือแสดงพฤติกรรมบ่อยที่สุดหรือชิ้นงานมีคุณภาพมากที่สุดจะได้ 5 คะแนน หรือ 3 คะแนน ลดหลั่นลงไปตามลำดับจนถึง1 คะแนนเมื่อตอบถูกต้องน้อยที่สุด หรือแสดงพฤติกรรมน้อยที่สุด หรืองานมีคุณภาพน้อยที่สุดเป็นต้น การให้คะแนนวิธีนี้มีความเป็นปรนัยมากขึ้นแต่ยังไม่สมบูรณ์ที่จะให้ข้อมูลป้อนกลับในเชิง คุณภาพว่าส่วนที่บกพร่องไปนั้นคืออะไร
            4. การให้คะแนนแบบรูบริค (Rubric) รูบริค หรือเกณฑ์ระดับความสามารถเป็นสิ่งที่ผู้สอนและผู้เรียนตกลงร่วมกันว่าจะใช้ในการประเมินกิจกรรมหรืองานต่างๆ ที่ผู้เรียนสร้างขึ้น เป็นข้อตกลงที่ผู้เรียนรู้ว่า นี่คือเป้าหมาย หรือจุดหมายของการปฏิบัติงานนั้น รูบริคเป็นวิธีการให้คะแนนที่ใช้หลักการของมาตรประมาณค่าประกอบกับการพรรณนาคุณภาพกล่าวคือ แทนที่จะใช้ตัวเลข เช่น 5-4-3-2-1 หรือ 3-2-1 ฯลฯ (โดยมีการแปลความหมายกำกับด้วย) อย่างลอยๆ ก็มีการเพิ่มข้อมูลรายละเอียดว่าคะแนนที่ได้ลดหลั่นลงไปมีความบกพร่องที่บ่งชี้เป็นข้อมูลเชิง คุณภาพว่าเป็นอย่างไร ข้อมูลเชิงคุณภาพที่ผนวกอยู่กับข้อมูลเชิงปริมาณในการให้คะแนนแบบรูบริคนี้ มีประโยชน์ในการให้ข้อมูลป้อนกลับแก่ผู้ถูกประเมิน ซึ่งเป็นการตอบสนองหลักการของการประเมินผลเพื่อการปรับปรุง
            นอกเหนือจากการให้คะแนนด้วยวิธีต่างๆดังกล่าวแล้ว ในการประเมินผลการเรียนรู้ตามแนวการปฏิรูปการศึกษา ผู้สอนอาจใช้ข้อมูลในรูปแบบอื่นๆ เช่น ข้อมูลจากบันทึกต่างๆรวมทั้งหลักฐานหรือร่องรอยจากการเรียนอื่นๆ ซึ่งเมื่อต้องการประเมินคุณค่าก็สามารถแปลเป็นคะแนนได้ในภายหลัง
4.แนวทางการกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนแบบรูบริค
             การให้คะแนนแบบรูบริคเป็นนวัตกรรมการประเมินผลการเรียนรู้ที่สำคัญ เนื่องจากมีการกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนไว้ค่อนข้างชัดเจน ทำให้ผู้ประเมินแต่ละคนสามารถให้คะแนนได้ตรงกันหรือสอดคล้องกันมาก จึงมีความเป็นปรนัยสูงในการตรวจให้คะแนน นอกจากนี้ผลของการประเมินแบบรูบริคจะเป็นข้อมูลป้อนกลับที่มีประโยชน์มาก สำหรับผู้ประเมินและผู้ถูกประเมินซึ่งเป็นการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ของการประเมินผล เพื่อการปรับปรุง และเพื่อการติดตามพัฒนาการ ปัญหาสำคัญของการให้คะแนนแบบรูบริคคือการสร้างเกณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของคุณภาพด้านความตรง (Validity) ของการประเมิน
5.ขั้นตอนในการสร้างเกณฑ์การให้คะแนนแบบรูบริค
              การสร้างเกณฑ์การให้คะแนนแบบรูบริค ต้องคำนึงถึงงานที่กำหนดให้ผู้เรียนกระทำว่าต้องมีความสำคัญ มีความสอดคล้องระหว่างคะแนนกับจุดมุ่งหมายการประเมิน เกณฑ์ที่สร้างต้องเป็นรูปธรรม มีความชัดเจน เหมาะสมกับระดับชั้นและควรให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการสร้างเกณฑ์การประเมินด้วย ในการสร้างเกณฑ์การให้คะแนนแบบรูบริคนั้นมีแนวคิดและขั้นตอนดังนี้
           1. กำหนดประเด็นในการประเมิน โดยเขียนนิยามปฏิบัติการและความหมายให้ชัดเจน ทั้งนี้ในการกำหนดประเด็นในการประเมินนั้น หากมีการกำหนดองค์ประกอบของงานหรือพฤติกรรมที่มีเป้าหมายของการประเมินไว้แล้วก็ควรใช้องค์ประกอบเหล่านั้นมาใช้เป็นประเด็นในการประเมิน หรืออาจนำ คุณภาพหรือปริมาณ ของ งานหรือพฤติกรรม มาใช้เป็นประเด็นในการประเมินก็ได้
           2. กำหนดจำนวนระดับ ซึ่งอาจเป็น 5 ระดับหรือ 3 ระดับ แล้วแต่ความเหมาะสมหรืออาจใช้จำนวนระดับเท่ากับระดับผลการเรียนที่กำหนดคือ 4 ระดับ (จาก 1-4 และอาจกำหนดระดับศูนย์ในกรณีที่ไม่ส่งงานหรือทำไม่ถูกเลย)
           3. พิจารณาให้ระดับ 3 เป็นเกณฑ์ที่เป็นไปตามมาตรฐานของหลักสูตร คือสามารถทำได้ตามระดับที่ยอมรับได้ เทียบเท่ากับการปฏิบัติได้เองโดยไม่ต้องช่วยเหลือ
           4. พิจารณาให้ระดับ 2 เป็นเกณฑ์ที่ เกือบผ่านคือจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขอีกเล็กน้อยจึงจะใช้ได้
           5. พิจารณาให้ระดับ 4 เป็นเกณฑ์ที่มีคุณภาพสูงกว่าระดับ 3
           6. พิจารณาให้ระดับ 1 เป็นเกณฑ์ที่มีคุณภาพต่ำกว่าระดับ 2 ซึ่งนับว่าอ่อนมากผู้สอนอาจต้องสอนใหม่ ให้งานทำใหม่ (พร้อมทั้งให้คำแนะนำช่วยเหลือ)
           7. ทดลองใช้และประเมินความเชื่อมั่นของรูบริค โดยใช้ผู้ประเมิน 2 คนหรือคนเดียวประเมิน 2 ครั้ง แล้วหาความสอดคล้องของเกณฑ์สำหรับแนวทางในการเขียนระดับต่างๆนั้น จะต้องพิจารณาตามประเด็นที่กำหนดทั้งหมดว่าประเด็นใดสำคัญที่สุดและรองลงมา ทั้งนี้ในระดับ 4 นั้นต้องถูกต้องทุกประเด็น ระดับ 3 อาจบกพร่องในประเด็นที่ไม่สำคัญ และระดับ 2 กับ 1 ก็ลดหลั่นกันลงมา ซึ่งมีวิธีการเขียน พอสังเขปดังนี้
วิธีที่ 1 แยกประเด็นพิจารณาออกเป็นประเด็นย่อย แล้วกำหนดเป็นตารางพิจารณาความถูกต้องในแต่ละประเด็น กำหนดระดับคะแนนตามจำนวนที่ปฏิบัติได้ถูกต้อง
วิธีที่ 2 กำหนดตามระดับความผิดพลาด โดยพิจารณาความบกพร่องจากคำตอบว่ามีมากน้อยเพียงใด แล้วหักจากระดับคะแนนสูงสุดลงมาทีละระดับ โดยเน้นความสามารถในการคิดแก้ปัญหาระดับสูงหรือประยุกต์ความรู้
วิธีที่ 3 กำหนดระดับการยอมรับและคำอธิบาย
วิธีที่ 4 กำหนดตามจำนวนครั้งของการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ หรือจำนวนครั้งของความผิดการนับจำนวนจะเหมะกับเกณฑ์การประเมินที่เน้นปริมาณ
6.การประเมิน/ตัดสินผลการเรียน
             การจัดการศึกษามีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสัมฤทธิผลตามหลักสูตรดังนั้น การจัดการเรียนรู้ทุกวิชาตามหลักสูตร มีความหมายและมีความสำคัญต่อการพัฒนาผู้เรียนทั้งสิ้น และเพื่อให้รู้ว่าผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ หรือมีพัฒนาการอย่างไร ในวิชาต่างๆจำเป็นต้องมีการประเมิน และการประเมินในที่นี้ มิได้หมายถึงการจัดสอบด้วยข้อสอบเขียนตอบในกระดาษคำตอบเท่านั้น แต่วิธีการประเมินจะครอบคลุมถึง การตรวจแบบฝึกหัดผลงาน โครงงาน โครงการ แฟ้มสะสมงาน การประเมินการปฏิบัติ การวิเคราะห์บันทึกเหตุการณ์ การสังเกต สัมภาษณ์ต่างๆ เพื่อนำผลไปใช้ในการปรับปรุงพัฒนาการเรียนของผู้เรียนและเพื่อการตัดสินผลการเรียน
              ผู้ประเมินไม่ควรมองการวัดและประเมินผล แยกส่วนจากการจัดการเรียนรู้การประเมินต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดการเรียนรู้ การประเมินมีหลายรูปแบบเพื่อให้สามารถประเมินกระบวนการและผลผลิตได้ นอกจากนี้ยังเน้นการแก้ปัญหาในวิถีชีวิตที่เป็นจริงวิธีการประเมินจะต้องกระตุ้นให้ผู้เรียนได้แสดงออกซึ่งความรู้ ความสามารถอย่างเต็มที่ ฉะนั้น การประเมินที่จะทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่สะท้อนความสามารถที่แท้จริงของผู้เรียนได้ จะต้อง ไม่อยู่กับที่ หรือทำ ณ เวลาใด เวลาหนึ่งเท่านั้น แต่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำผลมาพัฒนา/กระตุ้นให้เกิดการพัฒนา สู่จุดที่เป็นความคาดหวัง โดยจะมีการประเมินสรุปเมื่อสิ้นภาคเรียนหรือสิ้นปีการศึกษา เพื่อให้ทราบว่าผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ระดับใด
               ซึ่ง การประเมินอย่างต่อเนื่องนั้น เป้าหมายมิใช่เพื่อการเก็บคะแนน แต่เพื่อการนำผลมาปรับปรุงพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม หากจะมีการนำผลการประเมินระหว่างเรียนมาเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินเพื่อตัดสินผลการเรียน ก็สามารถกระทำได้หากผู้ประเมินมีความเชื่อว่าผลการประเมินนั้น เป็นสิ่งสะท้อนความสำเร็จในส่วนนั้นได้
              ในการประเมินตามสภาพจริงต้องมีการประเมินทุกระยะ ประเมินรอบด้าน 360 องศา
ประเมินอย่างต่อเนื่อง ผู้สอนจะต้องสรุปผลการประเมินผู้เรียนจากข้อมูลรายละเอียดที่ได้จาก
การประเมินทั้งหลายในที่นี้จะกล่าวถึงการประเมินงานแต่ละชิ้น และการประเมินผลรวมในรายวิชา
หรือกลุ่มสาระการเรียนรู้
         1. การประเมินงานแต่ละชิ้น เช่น ชิ้นงาน หรือโครงงาน
         ในการประเมินชิ้นงานหรือโครงงานควรกำหนดระยะเวลาในการประเมินเป็นช่วงไว้อย่างน้อย 3 ช่วงคือ ขั้นของการวางแผน ขั้นปฏิบัติ และขั้นเสนอผลงาน ในแต่ละช่วงของการดำเนินงาน ผู้สอนจะต้องคอยดูแล ให้คำปรึกษา และให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เมื่อตรวจแผนแล้วถ้าแผนยังบกพร่องจะต้องแก้ไขก่อนให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ
         2. การประเมินผลรวมทั้งรายวิชาตลอดภาคเรียน
           เมื่อผลการประเมินย่อยแต่ละครั้งอยู่ในรูปของระดับตาม rubric ที่มีระดับเท่ากันหมดการพิจารณาระดับผลการเรียน (Grade) ก็ทำได้ไม่ยาก เพียงเอาน้ำหนักที่กำหนดไว้มาคูณกับผลการประเมินแต่ละส่วนแล้วหารด้วยจำนวนน้ำหนักที่กำหนด
            สถานศึกษามีหน้าที่ที่จะต้องจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีผลสัมฤทธิ์ตามความคาดหวัง กรณีผู้เรียนมีปัญหาด้านการเรียน จนเป็นเหตุให้ได้ระดับผลการเรียน “0”ซึ่งถือว่าไม่ผ่านหรือมีผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ ผู้สอนจะต้องหาสาเหตุและดำเนินการแก้ไข ซึ่งหลักการของการประเมินเพื่อปรับปรุงพัฒนานั้นกระบวนการประเมินจะต้องกระทำอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการจัดการเรียนรู้ เมื่อทราบว่าผู้เรียนมีข้อบกพร่องตรงจุดไหนผู้เรียนจะต้องได้รับการแก้ไขทันที เพื่อให้สามารถเรียนต่อไปได้
7.การประเมินตามสภาพจริง (Authentic Assesment)
       7.1ความหมาย
              การประเมินสภาพจริงเป็นการประเมินจากการปฏิบัติงานหรือกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยงานหรือกิจกรรมที่มอบหมายให้ผู้ปฏิบัติ จะเป็นงานหรือสถานการณ์ที่เป็นจริงหรือใกล้เคียงกับชีวิตจริง จึงเป็นงานที่มีสถานการณ์ซับซ้อนและเป็นองค์รวมมากกว่างานปฏิบัติในกิจกรรมการเรียนทั่วไป
       7.2แนวคิดและหลักการของการประเมินผลตามสภาพจริง
              1. ไม่เน้นการประเมินทักษะพื้นฐานแต่เน้นการประเมินทักษะการคิดที่ซับซ้อนในการทำงาน ความร่วมมือ ในการแก้ปัญหา และการประเมินตนเองทั้งภายในและภายนอกห้องเรียน
              2. เป็นการวัดและประเมินความก้าวหน้าของผู้เรียน
              3. เป็นการสะท้อนให้เห็นการสังเกตสภาพงานปัจจุบัน ของผู้เรียน และสิ่งที่ผู้เรียนได้ปฏิบัติจริง
              4. เป็นการให้ความสำคัญกับงานที่เป็นจริงโดยพิจารณาจากงานหลายๆ ชิ้น
              5. ผู้ประเมินควรมีหลายคน มีการประชุมกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้เรียน
              6. การประเมินต้องดำเนินการไปพร้อมกับการจัดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
              7. นำการประเมินตนเองมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินตามสภาพที่แท้จริง
              8. ควรมีการประเมินทั้ง การประเมินที่เน้นการปฏิบัติจริง และการประเมินจากแฟ้มสะสมงาน
       7.3ลักษณะสำคัญของการวัดและการประเมินผลจากสภาพจริง
              1. ใช้วิธีการประเมินกระบวนการคิดที่ซับซ้อน ความสามารถในการปฏิบัติงานศักยภาพของผู้เรียน มากกว่าที่จะประเมินว่าผู้เรียนสามารถจดจำความรู้อะไรได้บ้าง
              2. เป็นการประเมินความสามารถของผู้เรียน เพื่อวินิจฉัยผู้เรียนในส่วนที่ควรส่งเสริมและส่วนที่ควรแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพตามความสามารถความสนใจและความต้องการของแต่ละบุคคล
               3. เป็นการประเมินที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมประเมินผลงานของทั้งตนเองและของเพื่อนร่วมห้อง เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักตัวเอง เชื่อมั่นตนเอง สามารถพัฒนาข้อมูลได้
               4. ข้อมูลที่ประเมินได้จะต้องสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการจัดการเรียนรู้และการวางแผนการจัดการเรียนรู้ ว่าสามารถตอบสนองความสามารถ ความสนใจ และความต้องการของผู้เรียนแต่ละบุคคลได้หรือไม่
               5. ประเมินความสามารถของผู้เรียนในการถ่ายโอนการเรียนรู้ไปสู่ชีวิตจริงได้
               6. ประเมินด้านต่างๆ ด้วยวิธีที่หลากหลายในสถานการณ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
       7.4ขั้นตอนการประเมินตามสภาพจริง
               1. กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการประเมิน ต้องสอดคล้องกับสาระมาตรฐานจุดประสงค์การเรียนรู้และสะท้อนการพัฒนาด้วย
               2. กำหนดขอบเขตในการประเมิน ต้องพิจารณาเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียนเช่น ความรู้ ทักษะและกระบวนการ ความรู้สึก คุณลักษณะ เป็นต้น
               3. กำหนดผู้ประเมิน โดยพิจารณาผู้ประเมินว่าจะมีใครบ้าง เช่น ผู้เรียนประเมินตนเองเพื่อนผู้เรียน ผู้สอนผู้สอน ผู้ปกครองหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
               4. เลือกใช้เทคนิคและเครื่องมือในการประเมิน ควรมีความหลากหลายและเหมาะสม กับวัตถุประสงค์ วิธีการประเมิน เช่น การทดสอบ การสังเกต การสัมภาษณ์ การบันทึกพฤติกรรมแบบสำรวจความคิดเห็น บันทึกจากผู้ที่เกี่ยวข้อง แฟ้มสะสมงาน ฯลฯ
               5. กำหนดเวลาและสถานที่ที่จะประเมิน เช่น ประเมินระหว่างผู้เรียนทำกิจกรรมระหว่างทำงานกลุ่ม/โครงการ วันใดวันหนึ่งของสัปดาห์ เวลาว่าง/พักกลางวัน ฯลฯ
               6. วิเคราะห์ผลและวิธีการจัดการข้อมูลการประเมิน เป็นการนำข้อมูลจากการประเมินมาวิเคราะห์โดยระบุสิ่งที่วิเคราะห์ เช่น กระบวนการทำงาน เอกสารจากแฟ้มสะสมงาน ฯลฯรวมทั้งระบุวิธีการบันทึกข้อมูลและวิธีการวิเคราะห์ข้อมูล
               7. กำหนดเกณฑ์ในการประเมิน เป็นการกำหนดรายละเอียดในการให้คะแนนผลงานว่าผู้เรียนทำอะไร ได้สำเร็จหรือว่ามีระดับความสำเร็จในระดับใด คือ มีผลงานเป็นอย่างไรการให้คะแนนอาจจะให้ในภากพรวมหรือแยกเป็นรายให้สอดคล้องกับงานและจุดประสงค์การเรียนรู้
          อาจกล่าวสรุปได้ว่าการประเมินตามสภาพจริงเป็นขั้นตอนที่ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันกำหนด ผลสัมฤทธิ์ที่ต้องการโดยวิเคราะห์จากหลักสูตร และความต้องการของผู้เรียนมีแนวทางของงานที่ปฏิบัติ กำหนดกรอบและวิธีการประเมินร่วมกันระหว่างผู้ประเมินและผู้ถูกประเมิน
       7.5เทคนิค/วิธีการที่ใช้ในการประเมินตามสภาพจริง
              การประเมินตามสภาพจริงเป็นการกระทำ การแสดงออกหลายๆ ด้าน ของผู้เรียนตามสภาพความเป็นจริงทั้งในและนอกห้องเรียน มีวิธีการประเมินโดยสังเขปดังนี้
             1. การสังเกต เป็นวิธีการที่ดีมากวิธีหนึ่งในการเก็บข้อมูลพฤติกรรมด้านการใช้ความคิด การปฏิบัติงาน และโดยเฉพาะด้านอารมณ์ ความรู้สึก และลักษณะนิสัยสามารถทำได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ทั้งในห้องเรียน นอกห้องเรียน หรือในสถานการณ์อื่นนอกสถานศึกษาเครื่องมืออื่นๆ ที่ใช้ประกอบการสังเกต ได้แก่ แบบตรวจสอบรายการ แบบมาตราส่วนประมาณค่า แบบบันทึกระเบียนสะสม เป็นต้น
              2. การสัมภาษณ์ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้เก็บข้อมูลพฤติกรรมด้านต่างได้ดี เช่น ความคิด(สติปัญญา) ความรู้สึก กระบวนการขั้นตอนในการทำงาน วิธีแก้ปัญหา ฯลฯ อาจใช้ประกอบการสังเกตเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มั่นใจมากยิ่งขึ้น
              ก่อนสัมภาษณ์ควรหาข้อมูลเกี่ยวกับภูมิหลังของผู้เรียนก่อนเพื่อทำให้การสัมภาษณ์ตรงประเด็นและได้ข้อมูลยิ่งขึ้น ควรเตรียมชุดคำถามล่วงหน้าและจัดลำดับคำถามช่วยให้การตอบไม่วกวนขณะสัมภาษณ์ผู้สอนใช้วาจา ท่าทาง น้ำเสียงที่อบอุ่นเป็นกันเอง ทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกปลอดภัยและแนวโน้มให้ผู้เรียนอยากพูด/เล่า ใช้คำภามที่ผู้เรียนเข้าใจง่ายและผู้สอนอาจใช้วิธีสัมภาษณ์ทางอ้อมคือ สัมภาษณ์จากบุคคลที่ใกล้ชิดผู้เรียน เช่น เพื่อนสนิท ผู้ปกครอง เป็นต้น
               3. การตรวจงาน เป็นการวัดและประเมินผลที่เน้นการนำผลการประเมินไปใช้ทันทีใน 2 ลักษณะ คือ เพื่อการช่วยเหลือผู้เรียนและเพื่อปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ของผู้สอน จึงเป็นการประเมินที่ควรดำเนินการตลอดเวลา เช่น การตรวจแบบฝึกหัด ผลงานภาคปฏิบัติ โครงการ/โครงงานต่างๆ เป็นต้น งานเหล่านี้ควรมีลักษณะที่ผู้สอนสามารถประเมินพฤติกรรมระดับสูงของผู้เรียนได้ เช่น แบบฝึกหัดที่เน้นการเขียนตอบ เรียบเรียง สร้างสรรค์ งาน โครงการ โครงงานที่เน้นความคิดขั้นสูงในการวางแผนจัดการ ดำเนินการและแก้ปัญหาสิ่งที่ควรประเมินควบคู่ไปด้วยเสมอในการตรวจงาน คือ ลักษณะนิสัยและคุณลักษณะที่ดีในการทำงาน ซึ่งผู้สอนควรมีความยืดหยุ่นการประเมิน จากการตรวจงานมากขึ้น ดังนี้
                       (1) ไม่จำเป็นต้องนำชิ้นงานทุกชิ้นมาประเมิน อาจเลือกเฉพาะชิ้นงานที่ผู้เรียนทำได้ดีและบอกความหมาย/ความสามารถของผู้เรียนตามลักษณะที่ผู้สอนต้องการประเมินได้วิธีนี้เป็นการเน้น จุดแข็งของผู้เรียน นับเป็นการเสริมแรง สร้างแรงกระตุ้นให้ผู้เรียนพยายามผลิตงานที่ดีๆ ออกมามากขึ้น
                       (2) จากแนวคิดตามข้อ 1 ชิ้นงานที่หยิบมาประเมินของแต่ละคน จึงไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเดียวกัน เช่น ผู้เรียนคนที่ 1 งานที่ (ทำได้ดี) ควรหยิบมาประเมินอาจเป็นงานชิ้นที่ 2,3, 5 ส่วนผู้เรียนคนที่ 2 งานที่ควรหยิบมาประเมินอาจเป็นงานชิ้นที่ 1, 2 ,4 เป็นต้น
                       (3) อาจประเมินชิ้นงานที่ผู้เรียนทำนอกเหนือจากที่ผู้สอนกำหนดให้ก็ได้ แต่ต้องมั่นใจว่าเป็นสิ่งที่ผู้เรียนทำเองจริงๆ เช่น สิ่งประดิษฐ์ที่ผู้เรียนทำเองที่บ้าน และนำมาใช้ที่สถานศึกษาหรืองานเลือกต่างๆ ที่ผู้เรียนทำขึ้นเองตามความสนใจ เป็นต้น การใช้ข้อมูล/หลักฐานผลงานอย่างกว้างขวาง จะทำให้ผู้สอนรู้จักผู้เรียนมากขึ้น และประเมินความสามารถของผู้เรียนตามสภาพที่แท้จริงของเขาได้          แม่นยำยิ่งขึ้น
                       (4) ผลการประเมิน ไม่ควรบอกเป็นคะแนนหรือระดับคุณภาพ ที่เป็นเฉพาะตัวเลขอย่างเดียว แต่ควรบอกความหมายของผลคะแนนนั้นด้วย
                4. การรายงานตนเอง เป็นการให้ผู้เรียนเขียนบรรยายหรือตอบคำถามสั้นๆ หรือตอบแบบสอบถามที่ผู้สอนสร้างขึ้น เพื่อสะท้อนถึงการเรียนรู้ของผู้เรียนทั้งความรู้ ความเข้าใจวิธีคิด วิธีทำงานความพอใจในผลงาน ความต้องการพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้น
                5. การใช้บันทึกจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นการรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับตัวผู้เรียนผลงานผู้เรียน โดยเฉพาะความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของผู้เรียนจากแหล่งต่างๆเช่น จากเพื่อนผู้สอน-โดยประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียนรู้ของผู้เรียนจากเพื่อนผู้เรียน-โดยจัดชั่วโมงสนทนา วิพากษ์ผลงาน (ผู้เรียนต้องได้รับคำแนะนำมาก่อนเกี่ยวกับหลักการ วิธีวิจารณ์เพื่อการสร้างสรรค์)จากผู้ปกครอง-โดยจดหมาย/สารสัมพันธ์ที่ผู้สอน หรือสถานศึกษากับผู้ปกครองมีถึงกันโดยตลอดเวลา โดยการประชุมผู้ปกครองที่สถานศึกษาจัดขึ้น หรือโดยการตอบแบบสอบถามสั้นๆ
                6. การใช้ข้อสอบแบบเน้นการปฏิบัติจริง ในกรณีที่ผู้สอนต้องการใช้แบบทดสอบขอเสนอแนะให้ใช้แบบทดสอบภาคปฏิบัติที่เน้นการปฏิบัติจริง ซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้
                      1) ปัญหาต้องมีความหมายต่อผู้เรียน และมีความสำคัญเพียงพอที่จะแสดงถึงภูมิความรู้ของผู้เรียนในระดับชั้นนั้นๆ
                      2) เป็นปัญหาที่เลียนแบบสภาพจริงในชีวิตของผู้เรียน
                      3) แบบสอบต้องครอบคลุมทั้งความสามารถและเนื้อหาตามหลักสูตร
                      4) ผู้เรียนต้องใช้ความรู้ความสามารถ ความคิดหลายๆ ด้านมาผสมผสาน และแสดงวิธีคิดได้เป็นขั้นตอนที่ชัดเจน
                      5) ควรมีคำตอบถูกได้หลายคำตอบ และมีวิธีการหาคำตอบได้หลายวิธี
                      6) มีเกณฑ์การให้คะแนนตามความสมบูรณ์ของคำตอบอย่างชัดเจน
                 7. การประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมงาน แฟ้มสะสมงานหมายถึง สิ่งที่ใช้สะสมงานของผู้เรียนอย่างมีจุดประสงค์ อาจเป็นแฟ้ม กล่อง แผ่นดิสก์ อัลบั้ม ฯลฯ ที่แสดงให้เห็นถึง ความพยายาม ความก้าวหน้า และผลสัมฤทธิ์ในเรื่องนั้นๆ หรือหลายๆ เรื่อง การสะสมนั้นผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเลือกเนื้อหา เกณฑ์การเลือก เกณฑ์การตัดสิน ความสามารถ/คุณสมบัติ หลักฐานการสะท้อนตนเอง
              การประเมินผลโดยใช้แฟ้มสะสมงานเป็นวิธีการประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริงที่ได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลายวิธีหนึ่ง เพราะใช้การประเมินให้ผูกติดอยู่กับการจัดการเรียนรู้และมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการจัดการเรียนรู้ที่ชัดเจนและ การที่จะได้มา ซึ่งผลการเรียนรู้ที่แท้จริงของผู้เรียน ผู้สอนควรใช้วิธีการเก็บข้อมูลหลายๆ วิธีผสมผสานกัน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่หลากหลาย ครอบคลุมพฤติกรรมทุกด้านและมีจำ นวนมากเพียงพอที่จะประเมินผลที่เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนอย่างมั่นใจหลักเกณฑ์การให้คะแนนตามแนวทางการประเมินตามสภาพจริง
               กล่าวโดยสรุป วิธีการให้คะแนนตามแนวประเมินตามสภาพจริง เน้นที่การให้ข้อมูลที่สามารถบ่งชี้ถึงความสำเร็จหรือความรอบรู้ของผู้เรียนว่ามีลักษณะอย่างไรและความสำเร็จหรือความรอบรู้ในระดับที่แตกต่างกันนั้น มีลักษณะแตกต่างกันอย่างไร ไม่ใช่ให้ความหมายเพียงแค่การได้/ตก หรือ ผ่าน/ไม่ผ่าน หรือระดับของการผ่านเท่านั้น นอกจากนี้การนำผลประเมินไปใช้ประโยชน์ด้านการตัดสินผลการเรียนก็มีความสำคัญเป็นอันดับรองจากการนำไปใช้เพื่อพัฒนาผู้เรียนและตัวผู้สอน
                การประเมินสภาพจริง เป็นการประเมินที่เน้นให้ผู้เรียนปฏิบัติ ถ้าสามารถปฏิบัติได้ในสถานการณ์จริงจะดีมาก แต่ถ้าไม่ได้อาจใช้สถานการณ์จำลองที่พยายามให้เหมือนจริงมากที่สุดหรืออาจจะให้ผู้เรียนไปปฏิบัตินอกห้องเรียน หรือที่บ้านเก็บผลงานไว้ ในแฟ้มสะสมงานแล้วผู้สอนเรียกมาประเมินภายหลัง สถานการณ์ที่ประเมินควรเป็นสถานการณ์ที่ประเมินผู้เรียนได้หลายมิติ เช่น ทักษะ ความรู้ ความสามารถ การคิด และคุณลักษณะต่างๆ วิธีการที่ใช้ประกอบการประเมินตามสภาพจริงควรมีหลากหลายประกอบกัน เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์การตรวจงาน การรายงานตนเองของผู้เรียน การบันทึกจากผู้ที่เกี่ยวข้องการใช้ข้อสอบแบบเน้นการปฏิบัติจริง การประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมงาน
                 ภูมิชนะ เกิดพงษ์ (https://www.gotoknow.org/posts/181202) กล่าวถึง ความหมายของการวัดผลไว้ว่า    การวัดผล หมายถึง กระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งตัวเลข หรือสัญลักษณ์ ที่มีความหมายแทนคุณลักษณะ หรือคุณภาพของสิ่งที่วัด โดยใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพหารายละเอียดสิ่งที่วัดว่ามีจำนวนหรือปริมาณเท่าใด เช่น การวัดส่วนสูงของเด็กเป็นการแปลงคุณลักษณะด้านความสูงออกมาเป็นตัวเลขว่าสูงกี่เซนติเมตรหรือนักเรียนสอบวิชาคณิตศาสตร์ได้ 20 คะแนน ก็เป็นการแปลงคุณภาพด้านความสามารถในวิชาคณิตศาสตร์ออกมาเป็นตัวเลข โดยใช้แบบทดสอบ เป็นต้น                                                            
                  การประเมินผล (evaluation) หมายถึงกระบวนการที่กระทำต่อจากการวัดผล แล้ววินิจฉัยตัดสิน ลงสรุปคุณค่าที่ได้จากการวัดผลอย่างมีกฎเกณฑ์ และมีคุณธรรม เพื่อพิจารณาตัดสินใจว่าสิ่งนั้นดีหรือเลว เก่งหรืออ่อน ได้หรือตก เป็นต้น                                                                          
                ดังนั้น การวัดผลและการประเมินผลมีความสัมพันธ์กัน กล่าวคือ การวัดผลจะทำให้ได้ตัวเลข ปริมาณ หรือรายละเอียดของคุณลักษณะหรือพฤติกรรมของบุคคล จากนั้นจะนำเอาผลการวัดนี้ไปพิจารณาเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้เพื่อตัดสิน หรือลงสรุปเกี่ยวกับสิ่งนั้น ซึ่งเรียกว่าการประเมินผล                                                           
                  การวัดผลและประเมินผลการศึกษา เกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนการสอนตลอดเวลา ซึ่งจุดมุ่งหมายของการวัดผลและประเมินผลนั้น ไม่ใช่เฉพาะการนำผลการวัดไปตัดสินได้-ตก หรือใครควรจะได้เกรดอะไรเท่านั้น แต่ควรนำผลการวัดและประเมินนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาในหลาย ๆ ลักษณะดังนี้                        
                    1. เพื่อค้นและพัฒนาสมรรถภาพของนักเรียน หมายถึงการวัดผลและประเมินผลเพื่อดูว่านักเรียนบกพร่องหรือไม่เข้าใจในเรื่องใด ตอนใด แล้วครูพยายามสอนให้นักเรียนเกิดความรู้ มีความเจริญงอกงามตามศักยภาพของตนเอง จุดมุ่งหมายข้อนี้สำคัญมาก หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็น ปรัชญาการวัดผลการศึกษา (ชวาล แพรัตกุล. 2516 : 34)                                                                                                          
                    2. เพื่อจัดตำแหน่ง (placement) การวัดผลและประเมินผลวิธีนี้เพื่อเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นๆ โดยอาศัยกลุ่มเป็นเกณฑ์ว่าใครเด่น-ด้อย ใครได้อันดับที่ 1 ใครสอบได้-ตก หรือใครควรได้เกรดอะไร เป็นต้น การวัดผลและประเมินผลวิธีนี้เหมาะสำหรับการตัดสินผลการเรียนแบบอิงกลุ่ม และการคัดเลือกคนเข้าทำงาน               
                      3. เพื่อวินิจฉัย (diagnostic) เป็นการวัดผลและประเมินผลที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อหาความบกพร่องของผู้เรียนว่าวิชาที่เรียนนั้นมีจุดบกพร่องตอนใด เพื่อที่จะได้นำไปปรับปรุงแก้ไข ซ่อมเสริมส่วนที่ขาดหายไปให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งในกระบวนการเรียนการสอนเรียกว่าการวัดผลย่อย (formative measurement)                       
                       4. เพื่อเปรียบเทียบ (assessment) เป็นการวัดผลและประเมินผลเพื่อเปรียบเทียบตนเอง หรือ เพื่อดูความงอกงามของเด็กแต่ละคนในช่วงเวลาที่ต่างกัน ว่าเจริญงอกงามเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมากน้อยเพียงใด เช่น การเปรียบเทียบผลก่อนเรียน(pre-test) และหลังเรียน (post-test)                                                 
                          5. เพื่อพยากรณ์ (prediction) เป็นการวัดผลและประเมินผลเพื่อทำนายอนาคตต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร นั่นคือเมื่อเด็กคนหนึ่งสอบแล้วสามารถรู้อนาคตได้เลยว่า ถ้าการเรียนของเด็กอยู่ในลักษณะนี้ต่อไปแล้วการเรียนจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในเรื่องของการแนะแนวการศึกษาว่านักเรียนควรเรียนสาขาใด หรืออาชีพใดจึงจะเรียนได้สำเร็จ แบบทดสอบที่ใช้วัด  จุดมุ่งหมายในข้อนี้ ได้แก่ แบบทดสอบวัดความถนัด (aptitude test) แบบทดสอบวัดเชาว์ปัญญา (intelligence test) เป็นต้น                 
                        6.เพื่อประเมินผล (evaluation)เป็นการนำผลที่ได้จากการวัดไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เพื่อตัดสินลงสรุปให้คุณค่าของการศึกษา หลักสูตรหรือ เครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลว่าเหมาะสมหรือไม่ และควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไร 
ประโยชน์ของการวัดผลและประเมินผลการศึกษา                                                                                       
                  การวัดผลและประเมินผลการศึกษา มีประโยชน์ต่อกระบวนการเรียนการสอนเป็นอย่างยิ่งเพราะว่าเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการตัดสินใจของครู ผู้บริหารและนักการศึกษา ซึ่งพอจะสรุปประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้ (อนันต์ ศรีโสภา. 2522 : 1-2)                                                                                        
                    1. ประโยชน์ต่อครู ช่วยให้ทราบเกี่ยวกับพฤติกรรมเบื้องต้นของนักเรียน ครูก็จะรู้ว่านักเรียนมีความรู้พื้นฐานพร้อมที่จะเรียนในบทต่อไปหรือไม่ ถ้าหากว่านักเรียนคนใดยังไม่พร้อมครูก็จะหาทางสอนซ่อมเสริม นอกจากนี้ยังช่วยให้ครูปรับปรุงเทคนิคการสอนให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพอีกด้วย
2. ประโยชน์ต่อนักเรียน ช่วยให้นักเรียนรู้ว่าตัวเองเก่งหรืออ่อนวิชาใด เรื่องใด ความสามารถของตนอยู่ในระดับใด เพื่อที่จะได้ปรับปรุงตนเอง ตลอดจนแก้ไขข้อบกพร่องทางการเรียนของตนให้ดียิ่งขึ้น    
3. ประโยชน์ต่อการแนะแนว ช่วยให้แนะแนวการเลือกวิชาเรียน การศึกษาต่อ การเลือกประกอบอาชีพของนักเรียนให้สอดคล้องเหมาะสมกับความรู้ความสามารถและบุคลิกภาพตลอดจนช่วยให้สามารถแก้ปัญหาทางจิตวิทยา อารมณ์ สังคมและบุคลิกภาพต่างๆของนักเรียน                                                 
4. ประโยชน์ต่อการบริหาร ช่วยในการวางแผนการเรียนการสอน ตลอดจนการบริหารโรงเรียน ช่วยให้ทราบว่าปีต่อไปจะวางแผนงานโรงเรียนอย่างไร เช่น การจัดครูเข้าสอน การส่งเสริมเด็กที่เรียนดี การปรับปรุงรายวิชาของโรงเรียนให้ดีขึ้น เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วยังมีประโยชน์ต่อการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ ตามความเหมาะสม                                                                               
5. ประโยชน์ต่อการวิจัย ช่วยวินิจฉัยข้อบกพร่องในการบริหารงานของโรงเรียน การสอนของครูและข้อบกพร่องของนักเรียน นอกจากนี้ยังนำไปสู่การวิจัย การทดลองต่าง ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษามาก                                                                                                                                   
6. ประโยชน์ต่อผู้ปกครอง (พิตร ทองชั้น. 2524 : 7) ช่วยให้ทราบว่าเด็กในปกครองของตนนั้น มีความเจริญงอกงามเป็นอย่างไร เพื่อเตรียมการสนับสนุนในการเรียนต่อ ตลอดจนการเลือกอาชีพของเด็ก
สรุป
                  การวัดและการประเมินผลการเรียนรู้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน การประเมินผลการเรียนรู้มีจุดมุ่งหมายสองอย่างคือ                                                                                                                                                                                         
1.เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลการเรียนและการเรียนรู้ของผู้เรียนในระหว่างการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง บันทึก วิเคราะห์ แปลความหมายข้อมูล แล้วนำมาใช้ในการปรับปรุงแก้ไขการเรียนรู้ของผู้เรียนและการสอนของครู ครูต้องใช้วิธีและเครื่องมือการประเมินที่หลากหลาย เช่น การสังเกต ซักถาม ระดมความคิดเห็น ใช้แฟ้มสะสมงาน ใช้ภาระงานที่เน้นการปฏิบัติ การประเมินความรู้เดิม ให้ผู้เรียนประเมินตนเอง ให้เพื่อนประเมินเพื่อน ใช้เกณฑ์การให้คะแนน และควรให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ผู้เรียน เช่น คำแนะนำ แก้ไขความคิดที่ไม่ถูกต้อง                                                                                                                                     
2.ประเมินผลเพื่อตัดสินผลการเรียน มีหลายระดับ ได้แก่ เมื่อจบหน่วยการเรียน จบรายวิชา รับรองในการเลื่อนชั้น รับรองในการจบหลักสูตร
         ในการประเมินผลนั้นได้กำหนดเกณฑ์ไว้ 4 เกณฑ์คือ                                                  
1.ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามมาตรฐานการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่มสาระ ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ การงานอาชีพและเทคโนโลยี ภาษาต่างประเทศ                                                                                                                                                                 
2.ให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน                                                                     
3.ให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ทั้ง 8 คุณลักษณะ ได้แก่ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซื่อสัตย์สุจริต มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง มุ่งมั่นในการทำงาน รักความเป็นไทยและมีจิตสาธารณะ         
4.ให้ผู้เรียนเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เช่น กิจกรรมแนะแนว กิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ กิจกรรมชมรม กิจกรรมลูกเสือ/เนตรนารี กิจกรรมนักศึกษาวิชาทหาร
                เกณฑ์ที่ใช้ในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ได้แก่ การตัดสินผลการเรียน (เวลาเรียนขั้นต่ำ ได้รับการประเมินและผ่านทุกตัวชี้วัด) การให้ระดับผลการเรียน  (เป็นเกรดตัวเลขคือ 0-4 เกรดตัวอักษรคือ A-F เป็นระบบร้อยละ การผ่าน-ไม่ผ่านกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน)  การเลื่อนชั้น การเรียนซ้ำชั้น การสอนซ่อมเสริม (เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องและปรับความรู้) การเปลี่ยนผลการเรียน (จาก , 0” เป็นเกรด) เกณฑ์การจบในระดับต่างๆ (ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย)
 
อ้างอิง
เอกศักดิ์  บุตรลับ.(2537). ครูและการสอน.(พิมพ์ครั้งที่ 2). เพชรบุรี : สถาบันราชภัฎเพชรบุรี.สืบค้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2558.
อุษา คงทอง และคณะมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์.[Online] http://acad.vru.ac.th/pdf-handbook/Hand_Teacher.pdf.pdfhttp://acad.vru.ac.th/pdf-handbook/Hand_Teacher.pdf.pdf.การประเมินผลการเรียนรู้.สืบค้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2558.

        ภูมิชนะ เกิดพงษ์.[Online] https://www.gotoknow.org/posts/181202.การประเมินผลการเรียนรู้.สืบค้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2558.


การเรียนรู้แบบเรียนรวม


ฉวีวรรณ โยคิน(http://61.19.246.216/~nkedu2/?name=webboard&file=read&id=177) ได้กล่าวถึงการเรียนรู้แบบเรียนรวมไว้ดังนี้  การจัดการศึกษาแบบเรียนรวม ถือว่า เป็นแนวคิดใหม่ทางการศึกษาที่โรงเรียนจะต้องจัดการศึกษาให้กับเด็กทุกคน ไม่มีการแบ่งแยกว่าเด็กคนใดเป็นเด็กทั่วไป หรือเด็กคนใดที่มีความต้องการพิเศษ โดยโรงเรียนจะต้องจัดการศึกษาให้อย่างเหมาะสม ตามหลักการเรียนรวม เด็กที่มีความต้องการพิเศษจะได้เรียนในโรงเรียนปกติใกล้บ้านโดยไม่มีการแบ่งแยก ได้เรียนในชั้นเดียวกับเพื่อนในวัยเดียวกันไม่มีห้องเรียนพิเศษการช่วยเหลือสนับสนุนอื่นๆ จะจัดอยู่ในสภาพแวดล้อมในชั้นเรียนปกติ ทั้งนี้โรงเรียนต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบให้มีความยืดหยุ่นและตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของเด็กแต่ละคน และ เด็กทุกคนมีฐานะเป็นสมาชิกหนึ่งของโรงเรียนมีสิทธิ มีความเสมอภาค เท่าเทียมกัน ซึ่ง เป้าประสงค์ของการเรียนรวม คือ การจัดโอกาสสำหรับนักเรียนทุกคนให้บรรลุขีดศักยภาพในการศึกษาทั่วไป เพื่อให้เด็กสามารถดำรงชีพในสังคมร่วมกันได้อย่างมีความสุขและยอมรับซึ่งกัน และการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมเป็น การให้โอกาสเด็กพิการได้เรียนอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่กับเด็กทั่วไป ในสภาพห้องเรียนปกติ ซึ่งหากได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกวิธีแล้ว เด็กพิการสามารถประสบความสำเร็จได้ การเรียนรวมทำให้เด็กพิการมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กทั่วไปและรอดพ้นจากการถูกตีตราว่าเป็นเด็กพิการ ทำให้เด็กทั้งสองกลุ่มยอมรับซึ่งกันและกัน การจัดการศึกษาแบบเรียนรวมจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ให้โอกาสแก่คนพิการได้พัฒนาศักยภาพทุกด้านในระบบของโรงเรียนที่จัดให้

การเรียนรวมจึงมิใช่การศึกษาเฉพาะเด็กที่มีความต้องการพิเศษเท่านั้นหากแต่เป็นการศึกษาเพื่อเด็กทุกคน การจัดการเรียนการสอนและการดำเนินการต่างๆจะเป็นการผสมผสานระหว่างหลักการทางการศึกษาพิเศษ และการศึกษาทั่วไปการเรียนรวมในประเทศไทย แม้ว่าจะได้ดำเนินการไป แต่ก็ยังมีปัญหาหลากหลายทั้งในการบริหารจัดการ การบริหารหลักสูตร การประเมินความต้องการพิเศษทางการศึกษาของเด็ก การจัดหาสื่อ สิ่งอำนวยความสะดวก และการช่วยเหลือ และการช่วยเหลือเกื้อกูลอันจำเป็นที่จะทำให้การเรียนรวมดำเนินไปได้ การปรับวิธีสอน และการปรับวิธีการวัดผล เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา และความต้องการของผู้เรียน อีกประการหนึ่งการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมที่ขาดประสิทธิภาพอาจเป็นผลเนื่องมาจากความเข้าใจผิด และกลไกที่เป็นปัญหาหลายประการที่มาจากทั้งปัจจัยภายในโรงเรียนเอง และปัจจัยภายนอกโรงเรียน เช่น ขาดบุคลากรทางการศึกษาที่เข้าใจการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษอย่างแท้จริง ปัญหานานัปการเหล่านี้ ทำให้การเรียนรวมดำเนินไปในวงจำกัดและไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรแม้ว่า การจัดการศึกษาพิเศษให้กับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งเป็นบุคคลส่วนน้อยของประเทศแต่ก็ เป็นการจัดการศึกษาที่ต้องลงทุนสูงทั้งด้านการเงิน เวลา ทรัพยากร ทุกด้าน หลายคนอาจมองว่าเป็นภาระของประเทศ แต่โดยสิทธิมนุษยชน เขาต้องได้รับการดูแลเพราะไม่ใช่ว่าเขาเลือกเกิด เองได้ รัฐ และนักการศึกษา ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตลอดจนชุมชนในสังคม ต้องรับทราบปัญหาและให้โอกาสเขาได้เรียนรู้ตามศักยภาพที่มีอยู่ เพื่อสามารถพัฒนาตนเองได้ และไม่ให้เป็นภาระต่อส่วนรวมในสังคมต่อไป 

จินตหรา  เขาวงค์.(http://khaowongmsu.blogspot.com/2010/10/blog-post.html)ได้กล่าวถึงการเรียนรวมและการเรียนร่วม ไว้ดังนี้
1.ความหมายและความสำคัญของการเรียนรวม
การเรียนรวม หมายถึง การศึกษาแบบเรียนรวม ศูนย์การศึกษาของสภาสถาบันราชภัฎทั้ง 6 ศูนย์ คือ สถาบันราชภัฎสวนดุสิต เชียงใหม่ พิบูลย์สงคราม นครราชสีมา และสงขลา ได้ร่วมกันให้คำจำกัดความการศึกษาแบบเรียนรวมของประเทศไทย ไว้ว่าการศึกษาแบบเรียนรวม คือ การศึกษาสำหรับ ทุกคนโดยรับเข้ามาเรียนรวมกัน ตั้งแต่เริ่มเข้ารับการศึกษา และจัดให้มีบริการพิเศษตามความต้องการของแต่ละบุคคล และมีนักการศึกษาต่างประเทศ ได้ให้คำจำกัดความของการศึกษาแบบเรียนรวม ว่าหมายถึง การจัดการเรียนการสอนที่ยึดปรัชญาของการอยู่รวมกันเป็นหลัก นั่นคือ การสอนที่ดี เป็นการสอนที่ครูกับนักเรียนช่วยกันให้ทุกคนเป็นสมาชิกที่ดีของชุมชน โดยการสร้างวิสัยทัศน์ใหม่ให้กับชุมชนและโรงเรียน การอยู่รวมกันจึงมีความหมายรวมไปถึงกิจกรรมทุกชนิดที่จะนำไปสู่การสอนที่ดี ซึ่งเป็นการคิดอย่างรอบคอบเพื่อหาหนทางให้นักเรียนทุกคนสามารถเรียนได้เป็นการกำหนดทางเลือกหลายๆ ทาง จากความหมายดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่า การเรียนรวม เป็นแนวคิดทางการศึกษาอย่างหนึ่งที่โรงเรียนจะต้องจัดการศึกษาให้กับเด็กทุกคนโดยไม่มีการแบ่งแยกว่าเด็กคนใดเป็นเด็กปกติ หรือเด็กคนใดเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เด็กทุกคนที่ผู้ปกครองพาเข้ามาโรงเรียนทางโรงเรียนจะต้องรับเด็กไว้ และจะต้องจัดการศึกษาให้อย่างเหมาะสม และดำเนินการเรียนในลักษณะ “รวมกัน “ ที่ทุกคนต่างเป็นส่วนหนึ่ง ของสังคม ทุกคนยอมรับซึ่งกันและกัน
การเรียนรวมมีความสำคัญ คือ เป็นการจัดให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษเรียนรวมกับเด็กทั่วไปในชั้นเรียนของโรงเรียนทั่วไปเป็นการเสนอให้นักการศึกษาพิจารณาคำถึงคุณค่าของการพัฒนาชีวิตคน ซึ่งจะต้องได้รับการพัฒนาทุกด้านของวิถีแห่งชีวิต เพื่อให้มีความสามารถ ความรู้ และทักษะในการดำรงชีวิตอยู่ในครอบครัวและสังคมได้อย่างเป็นสุขและมีคุณค่า และยังเป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่กลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษให้ได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้น เพราะการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมเป็นการประหยัด และไม่ต้องรอคอยงบประมาณในการจัดซื้อที่ดิน การก่อสร้างอาคารเรียนซึ่งต้องสิ้นเปลืองเงินงบประมาณจำนวนมาก หากแต่จัดให้เด็กพิเศษได้แทรกเข้าไปเรียนในชั้นเรียนของโรงเรียนทั่วไปในระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา
                   2. ความหมายและความสำคัญของการเรียนร่วม
การเรียนร่วม หมายถึง การนำนักเรียนพิการ หรือมีความพกพร่อง เข้าไปในระบบการศึกษาปกติ มีการร่วมกิจกรรม และใช้เวลาว่างช่วงใดช่วงหนึ่งในแต่ละวัน ระหว่างนักเรียนพิการหรือที่มีความพกพร่องกับนักเรียนทั่วไป
ความสำคัญของการเรียนร่วม คือ เป็นการจัดการศึกษาให้เด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ มีโอกาสเข้าไปในระบบการศึกษาปกติ โดยเปิดโอกาสให้เด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ได้เรียนและทำกิจกรรมร่วมกับเด็กทั่วไป โดยมีครูทั่วไปและครูการศึกษาพิเศษร่วมมือและ รับผิดชอบร่วมกัน (
Collaboration) และการจัดการเรียนร่วม อาจกระทำได้หลายลักษณะ วิธีการจัดการเรียนร่วม ซึ่งปฏิบัติกันอยู่ในหลายประเทศและประสบความสำเร็จ ซึ่งมีรูปแบบการจัดเรียนร่วมได้ 6 รูปแบบ ดังนี้

1. ชั้นเรียนปกติเต็มวัน
2. ชั้นเรียนปกติเต็มวันและบริการปรึกษาหารือ
3. ชั้นเรียนปกติเต็มวันและบริการครูเดินสอน
4. ชั้นเรียนปกติเต็มวันและบริการสอนเสริม
5. ชั้นพิเศษและชั้นเรียนเรียนปกติเด็กจะเรียนในชั้นเรียนพิเศษ
6. ชั้นเรียนพิเศษในโรงเรียนปกติ
                      3.การเรียนรวมกับการเรียนร่วมแตกต่างกันตรงไหน
การเรียนรวม เด็กเลือกโรงเรียน ไม่ใช่โรงเรียนเลือกรับเด็กเหมือนอย่างเช่นการเรียนร่วม และเด็กทุกคนควรมีสิทธิจะเรียนรวมกันโดยทางโรงเรียนและครูจะต้องเป็นผู้ปรับสภาพแวดล้อม หลักสูตร การประเมินผล วัตถุประสงค์ ฯลฯ เพื่อครูและโรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนเพื่อสนองตอบความต้องการของนักเรียนทุกคนและเฉพาะบุคคลได้
https://docs.google.com/presentation/d/...m7604/embed?slide=id.i0 ได้กล่าวถึงการเรียน
รู้แบบเรียนรวมไว้ดังนี้...
              หลักการจัดการเรียนแบบเรียนรู้ มีดังนี้
                   1.โรงเรียนยอมรับและจัดการศึกษาสนองลักษณะที่แตกต่างกันของเด็ก
                   2.โรงเรียนมีมาตรการที่ทำให้มั่นใจได้ว่าเด็กทุกคนมีสิทธิและมีโอกาสเท่าเทียมกันที่จะเข้าถึงแหล่งความรู้
                   3.โรงเรียนจัดให้เด็กทุกคนได้เรียนในที่ต่าง ๆ ทั้งใน/นอกห้องเรียน
                   4.โรงเรียนใช้หลักว่าไม่มีครูคนใดที่เก่งพอที่จะสอนได้คนเดียวในชั้นเรียนที่มีเด็กหลายคนซึ่งมีลักษณแตกต่างกันได้
                   5.โรงเรียนต้องได้รับการบริหารจัดการในลักษณะยืดหยุ่นสามารถปรับให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็กผู้เรียนที่มีลักษณะหลากหลายได้
                    6.ครูและบุคลากรทุกคนต้องมีความมั่นใจและเชื่อมั่นในตัวเด็กนักเรียนทุกคนว่าจะสามารถเรียนรู้ได้ถึง มาตรฐานตามที่กำหนดไว้
                 7.โรงเรียนต้องมีกระบวนการประเมินผลการดำเนินงานเพื่อนำผลการประเมิน
ความสำคัญของการเรียนรวม
             การจัดการเรียนรวม สำหรับเด็กพิเศษที่เข้าเรียนรวมกับเพื่อนๆปกติแบบเคียงบ่าเคียงไหล่กันไป
จะส่งผลให้เด็กเรียนรู้ที่จะยอมรับซึ่งกันและกัน เด็กจะเข้าใจถึงความเหมือนและความไม่เหมือนในการอยู่ร่วมกัน เด็กปกติเรียนรู้ที่จะยอมรับความพิการของเพื่อนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา การยอมรับความพิการ การไร้ความสามารถ จึงเป็นเรื่องจำเป็น นอกจากนี้เด็กที่เรียนรวมนั้น จะได้รับประโยชน์จากการร่วมมือและความรู้สึกรับผิดชอบที่จะพัฒนาไปด้วยกันในชั้นเรียน การมีปฏิสัมพันธ์กันเช่นนี้จะส่งผลให้มีการยอมรับซึ่งกันและกันรู้สึกและตระหนักถึงความพิการได้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญเมื่อเด็กเหล่านี้ย่างเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตามเด็กที่เรียนในระบบ “Inclusion”ยังคงต้องได้รับการบริการศึกษาพิเศษไม่ว่าจะเป็นครูพิเศษ สื่อสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการทางการศึกษาพิเศษต่อเนื่องกันไป การเรียนในระบบนี้มิได้หมายความว่าจะลดบริการพิเศษต่างๆ ลงหากเพียงแต่มีการเปลี่ยนวิธีการจัดการและการให้บริการ
แนวคิดปรัชญาของการจัดการเรียนรวม
              การจัดการศึกษาแบบเรียนรวม เป็นการจัดให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษเรียนรวมกับเด็กปกติทั่วไปในชั้นเรียนของโรงเรียนทั่วไป เป็นการเสนอให้นักการศึกษาพิจารณาถึงคุณค่าของการพัฒนาชีวิตคนซึ่งจะต้องได้รับการพัฒนาทุกด้านของวิถีแห่งชีวิต เพื่อให้มีความสามารถ ความรู้ ทักษะในการดำรงชีวิตอยู่ในครอบครัว สังคมได้อย่างมีคุณค่าและมีความสุขอีกทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่กลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ให้ได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้น เพราะการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมนั้นเป็นการประหยัดและไม่ต้องรอคอยงบประมาณในการจัดซื้อที่ดิน การก่อสร้างอาคารเรียนซึ่งต้องสิ้นเปลืองเงินงบประมาณเป็นจำนวนมาก หากแต่จัดให้เด็กพิเศษได้แทรกเข้าไปเรียนในชั้นเรียนของโรงเรียนทั่วไปไม่ว่าจะเป็น ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ส่วนงบประมาณ ค่าอาคารสถานที่อาจผันให้เป็นเงินเดือนครูสอนเสริมสำหรับเด็กพิเศษ ถ้าสามารถทำได้ ก็จะเป็นผลดีกับทั้งเด็กและกำลังคนของรัฐอีกด้วย
แนวคิดในการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม
                1. ความยุติธรรมในสังคม (Social Justice) เด็กมีความต้องการพิเศษเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
เมื่อเด็กทุกคนได้รับการศึกษาในโรงเรียนปกติ เด็กที่มีความต้องพิเศษย่อมต้องการโอกาสกาได้รับการศึกษาในโรงเรียนปกติด้วย หากกีดกันไม่ให้เข้าเรียนในโรงเรียนทั่วไป
               2. การคืนสู่สภาวะปกติ (Normalization) หมายถึง การจัดสภาพใดๆ เพื่อให้เด็กที่มีความบกพร่องทางด้านต่างๆ สามารถได้รับบริการเช่นเดียวกับเด็กปกติ ในการข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของสังคม
                3. สภาพแวดล้อมที่มีข้อจำกัดน้อยที่สุด (Least RestrictiveEnvironment) ซึ่งสภาพแวดล้อมที่มีข้อจำกัดน้อยที่สุดจะเป็นผลดีกับเด็กมากที่สุดโดยเด็กได้รับผลประโยชน์มากที่สุดการเรียนรวมเป็น
                4. การเรียนรู้ (Learning) เด็กทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็กปกติหรือเด็กที่มีความต้องการพิเศษสามารถเรียนรู้
ได้ หากได้รับการสนับสนุนอย่างถูกต้องดังนั้นจึงต้องจัดวิธีการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับระดับความสามารถของแต่ละคน
ทฤษฎีพื้นฐานของการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม
               1. การจัดการเรียนรวมให้กับนักเรียนพิการหรือที่มีความบกพร่องนั้นจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อมีการจัดให้นักเรียนได้เรียนในสภาพแวดล้อมที่มีขีดจำกัดน้อยที่สุด (The Least Restrictive Environment : LRE)
               2.การจัดการเรียนรวมต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาอาชีพ (Transdisciplinary Team)และพ่อแม่หรือผู้ปกครองในลักษณะการรวมพลัง (Collaboration)
               3.การจัดให้นักเรียนพิการที่มีความแตกต่างเฉพาะบุคคลเข้าเรียนร่วมกับเด็กทั่วไปนั้นต้องอาศัยแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (Individualized Education Program : IEP)

สรุป
                การเรียนรวมหรือการเรียนร่วม เป็นการจัดการศึกษาให้เด็กพิเศษ ซึ่งหมายถึง เด็กที่มีปัญญาเลิศ เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน เด็กที่มีความบกพร่องทางการพูด เด็กที่มีความบกพร่องทางอารมณ์และพฤติกรรม เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็น เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้และเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา ได้มีโอกาสเรียนร่วมกับเด็กทั่วไปตามความสามารถและความต้องการพิเศษของแต่ละบุคคล เพื่อส่งเสริมให้ได้เรียนรู้และอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นๆในสังคมได้อย่างมีความสุขและมีความเท่าเทียมกันตามสิทธิมนุษยชน  สำหรับรูปแบบของการจัดการเรียนแบบเรียนร่วมนั้นมีหลากหลายรูปแบบตัวอย่างเช่น                     
- การเรียนร่วมอย่างสมบูรณ์ โดยเด็กพิเศษจะได้เข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติในโรงเรียนปกติ                      
- การเรียนร่วมบางเวลา เด็กพิเศษจะเข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติในบางรายวิชาและได้รับบริการพิเศษจากครูหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา                                                                                                                                                       
- การเรียนร่วมทางสังคม เป็นการให้เด็กพิเศษเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆกับเด็กปกติ เช่น กิจกรรมนันทนาการ งานสังสรรค์ของโรงเรียน งานแนะแนวการศึกษา แต่จะเรียนในชั้นพิเศษเฉพาะ หรืออาจจะมีการร่วมเรียนร่วมรู้โดยการจัดเป็นกิจกรรมกลุ่มขึ้นมาตัวอย่างเช่น                                          
- เพื่อนสอนเพื่อน ส่วนใหญ่จะเป็นการทบทวนในเนื้อหาที่เรียนไปแล้วซึ่งเด็กบางคนอาจเรียนไม่ทันหรือไม่เข้าใจในสิ่งที่ครูสอนก็จะได้เพื่อนช่วยชี้แนะอีกทางหนึ่ง                                                                                           
 - โครงงานกลุ่ม เช่น โครงงานวิทยาศาสตร์ โครงงานภาษาไทย โดยครูต้องกำหนดจุดมุ่งหมายและดำเนินงานตามขั้นตอน เมื่อสิ้นสุดระยะเวลานักเรียนจะต้องนำเสนอโครงงานที่ทำ อาจจะใช้เวลาในการทำงานมากกว่ากิจกรรมอื่น                                                                                                                                                   
การต่อชิ้นส่วน เป็นการมอบหมายให้ผู้เรียนมีบทบาทเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อทำงานที่ได้รับมอบหมายเสร็จก็นำงานแต่ละส่วนมารวมกันเป็นงานชิ้นใหญ่ที่เป็นระเบียบและมีความสมบูรณ์ครบถ้วน    
 - ผลสัมฤทธิ์ของทีมงาน โดยแบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มประมาณ 4 คน  ให้ผู้เรียนทุกคนร่วมกันอ่านเนื้อหาวิชาในส่วนที่ได้รับมอบหมาย ถ้าเพื่อนในกลุ่มคนใดไม่เข้าใจ เพื่อนที่เหลือในกลุ่มต้องช่วยกันอธิบายจนกว่าจะเข้าใจในเนื้อหาได้ครบทุกคน เมื่อเข้าใจหมดทุกคนแล้วจะมีการสอบเป็นรายบุคคล คะแนนของทุกคนจะถูกนำมาเฉลี่ยเป็นคะแนนกลุ่ม หากกลุ่มใดคะแนนต่ำ สมาชิกในกลุ่มต้องกลับไปเรียนรู้ใหม่จนกว่าจะสอบได้คะแนนตามเกณฑ์                                                               การเรียนร่วมทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีสำหรับการเรียนรวมคือ                                                                   
1.ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีขึ้น                                                                                                                     
2.เพิ่มการยอมรับนับถือในตนเองว่าตนเองมีคุณค่า ความสามารถ                                                                          
3.เป็นการเรียนรู้ที่มีชีวิตชีวา                                                                                                                                               
4. เป็นการพัฒนาทักษะทางสังคม                                                                                                                                
5.ส่งเสริมทักษะในการผูกมิตรและการยอมรับจากเพื่อน                                                                                          
6.ลดการแข่งขันและการเอาเปรียบผู้อื่น
              ข้อเสียสำหรับการเรียนร่วมคือ                                                                                                                                         
1.อาจเสียความเป็นระเบียบในชั้นเรียน                                                                                                                         
2.เด็กเรียนเก่งอาจจะรู้สึกว่าเสียเวลา แต่ครูควรชี้แจงให้เด็กเก่งเข้าใจและรู้จักการทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคม เราควรมีการปรับสภาพแวดล้อมเพื่อให้การเรียนร่วมประสบผลสำเร็จ เพื่อเอื้ออำนวยต่อลักษณะการเรียนรู้ของเด็ก โดยปรับสภาพแวดล้อมใน ด้านคือ ด้านกลยุทธ์การเรียนการสอน ด้านการวัดและประเมินผล และด้านการจัดการกับพฤติกรรมเด็ก       

อ้างอิง
ฉวีวรรณ โยคิน.[Online] (http://61.19.246.216/~nkedu2/?name=webboard&file=read&id=177). การศึกษาแบบเรียนรวม.สืบค้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2558.
จินตหรา  เขาวงค์.[Online] (http://khaowongmsu.blogspot.com/2010/10/blog-post.html).การเรียนรวมและการเรียนร่วม.สืบค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2558.
 https://docs.google.com/presentation/d/...m7604/embed?slide=id.i0.ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการศึกษาแบบเรียนรวม.สืบค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2558.