วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2558

การเรียนรู้แบบเรียนรวม


ฉวีวรรณ โยคิน(http://61.19.246.216/~nkedu2/?name=webboard&file=read&id=177) ได้กล่าวถึงการเรียนรู้แบบเรียนรวมไว้ดังนี้  การจัดการศึกษาแบบเรียนรวม ถือว่า เป็นแนวคิดใหม่ทางการศึกษาที่โรงเรียนจะต้องจัดการศึกษาให้กับเด็กทุกคน ไม่มีการแบ่งแยกว่าเด็กคนใดเป็นเด็กทั่วไป หรือเด็กคนใดที่มีความต้องการพิเศษ โดยโรงเรียนจะต้องจัดการศึกษาให้อย่างเหมาะสม ตามหลักการเรียนรวม เด็กที่มีความต้องการพิเศษจะได้เรียนในโรงเรียนปกติใกล้บ้านโดยไม่มีการแบ่งแยก ได้เรียนในชั้นเดียวกับเพื่อนในวัยเดียวกันไม่มีห้องเรียนพิเศษการช่วยเหลือสนับสนุนอื่นๆ จะจัดอยู่ในสภาพแวดล้อมในชั้นเรียนปกติ ทั้งนี้โรงเรียนต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบให้มีความยืดหยุ่นและตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของเด็กแต่ละคน และ เด็กทุกคนมีฐานะเป็นสมาชิกหนึ่งของโรงเรียนมีสิทธิ มีความเสมอภาค เท่าเทียมกัน ซึ่ง เป้าประสงค์ของการเรียนรวม คือ การจัดโอกาสสำหรับนักเรียนทุกคนให้บรรลุขีดศักยภาพในการศึกษาทั่วไป เพื่อให้เด็กสามารถดำรงชีพในสังคมร่วมกันได้อย่างมีความสุขและยอมรับซึ่งกัน และการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมเป็น การให้โอกาสเด็กพิการได้เรียนอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่กับเด็กทั่วไป ในสภาพห้องเรียนปกติ ซึ่งหากได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกวิธีแล้ว เด็กพิการสามารถประสบความสำเร็จได้ การเรียนรวมทำให้เด็กพิการมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กทั่วไปและรอดพ้นจากการถูกตีตราว่าเป็นเด็กพิการ ทำให้เด็กทั้งสองกลุ่มยอมรับซึ่งกันและกัน การจัดการศึกษาแบบเรียนรวมจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ให้โอกาสแก่คนพิการได้พัฒนาศักยภาพทุกด้านในระบบของโรงเรียนที่จัดให้

การเรียนรวมจึงมิใช่การศึกษาเฉพาะเด็กที่มีความต้องการพิเศษเท่านั้นหากแต่เป็นการศึกษาเพื่อเด็กทุกคน การจัดการเรียนการสอนและการดำเนินการต่างๆจะเป็นการผสมผสานระหว่างหลักการทางการศึกษาพิเศษ และการศึกษาทั่วไปการเรียนรวมในประเทศไทย แม้ว่าจะได้ดำเนินการไป แต่ก็ยังมีปัญหาหลากหลายทั้งในการบริหารจัดการ การบริหารหลักสูตร การประเมินความต้องการพิเศษทางการศึกษาของเด็ก การจัดหาสื่อ สิ่งอำนวยความสะดวก และการช่วยเหลือ และการช่วยเหลือเกื้อกูลอันจำเป็นที่จะทำให้การเรียนรวมดำเนินไปได้ การปรับวิธีสอน และการปรับวิธีการวัดผล เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา และความต้องการของผู้เรียน อีกประการหนึ่งการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมที่ขาดประสิทธิภาพอาจเป็นผลเนื่องมาจากความเข้าใจผิด และกลไกที่เป็นปัญหาหลายประการที่มาจากทั้งปัจจัยภายในโรงเรียนเอง และปัจจัยภายนอกโรงเรียน เช่น ขาดบุคลากรทางการศึกษาที่เข้าใจการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษอย่างแท้จริง ปัญหานานัปการเหล่านี้ ทำให้การเรียนรวมดำเนินไปในวงจำกัดและไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรแม้ว่า การจัดการศึกษาพิเศษให้กับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งเป็นบุคคลส่วนน้อยของประเทศแต่ก็ เป็นการจัดการศึกษาที่ต้องลงทุนสูงทั้งด้านการเงิน เวลา ทรัพยากร ทุกด้าน หลายคนอาจมองว่าเป็นภาระของประเทศ แต่โดยสิทธิมนุษยชน เขาต้องได้รับการดูแลเพราะไม่ใช่ว่าเขาเลือกเกิด เองได้ รัฐ และนักการศึกษา ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตลอดจนชุมชนในสังคม ต้องรับทราบปัญหาและให้โอกาสเขาได้เรียนรู้ตามศักยภาพที่มีอยู่ เพื่อสามารถพัฒนาตนเองได้ และไม่ให้เป็นภาระต่อส่วนรวมในสังคมต่อไป 

จินตหรา  เขาวงค์.(http://khaowongmsu.blogspot.com/2010/10/blog-post.html)ได้กล่าวถึงการเรียนรวมและการเรียนร่วม ไว้ดังนี้
1.ความหมายและความสำคัญของการเรียนรวม
การเรียนรวม หมายถึง การศึกษาแบบเรียนรวม ศูนย์การศึกษาของสภาสถาบันราชภัฎทั้ง 6 ศูนย์ คือ สถาบันราชภัฎสวนดุสิต เชียงใหม่ พิบูลย์สงคราม นครราชสีมา และสงขลา ได้ร่วมกันให้คำจำกัดความการศึกษาแบบเรียนรวมของประเทศไทย ไว้ว่าการศึกษาแบบเรียนรวม คือ การศึกษาสำหรับ ทุกคนโดยรับเข้ามาเรียนรวมกัน ตั้งแต่เริ่มเข้ารับการศึกษา และจัดให้มีบริการพิเศษตามความต้องการของแต่ละบุคคล และมีนักการศึกษาต่างประเทศ ได้ให้คำจำกัดความของการศึกษาแบบเรียนรวม ว่าหมายถึง การจัดการเรียนการสอนที่ยึดปรัชญาของการอยู่รวมกันเป็นหลัก นั่นคือ การสอนที่ดี เป็นการสอนที่ครูกับนักเรียนช่วยกันให้ทุกคนเป็นสมาชิกที่ดีของชุมชน โดยการสร้างวิสัยทัศน์ใหม่ให้กับชุมชนและโรงเรียน การอยู่รวมกันจึงมีความหมายรวมไปถึงกิจกรรมทุกชนิดที่จะนำไปสู่การสอนที่ดี ซึ่งเป็นการคิดอย่างรอบคอบเพื่อหาหนทางให้นักเรียนทุกคนสามารถเรียนได้เป็นการกำหนดทางเลือกหลายๆ ทาง จากความหมายดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่า การเรียนรวม เป็นแนวคิดทางการศึกษาอย่างหนึ่งที่โรงเรียนจะต้องจัดการศึกษาให้กับเด็กทุกคนโดยไม่มีการแบ่งแยกว่าเด็กคนใดเป็นเด็กปกติ หรือเด็กคนใดเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เด็กทุกคนที่ผู้ปกครองพาเข้ามาโรงเรียนทางโรงเรียนจะต้องรับเด็กไว้ และจะต้องจัดการศึกษาให้อย่างเหมาะสม และดำเนินการเรียนในลักษณะ “รวมกัน “ ที่ทุกคนต่างเป็นส่วนหนึ่ง ของสังคม ทุกคนยอมรับซึ่งกันและกัน
การเรียนรวมมีความสำคัญ คือ เป็นการจัดให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษเรียนรวมกับเด็กทั่วไปในชั้นเรียนของโรงเรียนทั่วไปเป็นการเสนอให้นักการศึกษาพิจารณาคำถึงคุณค่าของการพัฒนาชีวิตคน ซึ่งจะต้องได้รับการพัฒนาทุกด้านของวิถีแห่งชีวิต เพื่อให้มีความสามารถ ความรู้ และทักษะในการดำรงชีวิตอยู่ในครอบครัวและสังคมได้อย่างเป็นสุขและมีคุณค่า และยังเป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่กลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษให้ได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้น เพราะการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมเป็นการประหยัด และไม่ต้องรอคอยงบประมาณในการจัดซื้อที่ดิน การก่อสร้างอาคารเรียนซึ่งต้องสิ้นเปลืองเงินงบประมาณจำนวนมาก หากแต่จัดให้เด็กพิเศษได้แทรกเข้าไปเรียนในชั้นเรียนของโรงเรียนทั่วไปในระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา
                   2. ความหมายและความสำคัญของการเรียนร่วม
การเรียนร่วม หมายถึง การนำนักเรียนพิการ หรือมีความพกพร่อง เข้าไปในระบบการศึกษาปกติ มีการร่วมกิจกรรม และใช้เวลาว่างช่วงใดช่วงหนึ่งในแต่ละวัน ระหว่างนักเรียนพิการหรือที่มีความพกพร่องกับนักเรียนทั่วไป
ความสำคัญของการเรียนร่วม คือ เป็นการจัดการศึกษาให้เด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ มีโอกาสเข้าไปในระบบการศึกษาปกติ โดยเปิดโอกาสให้เด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ได้เรียนและทำกิจกรรมร่วมกับเด็กทั่วไป โดยมีครูทั่วไปและครูการศึกษาพิเศษร่วมมือและ รับผิดชอบร่วมกัน (
Collaboration) และการจัดการเรียนร่วม อาจกระทำได้หลายลักษณะ วิธีการจัดการเรียนร่วม ซึ่งปฏิบัติกันอยู่ในหลายประเทศและประสบความสำเร็จ ซึ่งมีรูปแบบการจัดเรียนร่วมได้ 6 รูปแบบ ดังนี้

1. ชั้นเรียนปกติเต็มวัน
2. ชั้นเรียนปกติเต็มวันและบริการปรึกษาหารือ
3. ชั้นเรียนปกติเต็มวันและบริการครูเดินสอน
4. ชั้นเรียนปกติเต็มวันและบริการสอนเสริม
5. ชั้นพิเศษและชั้นเรียนเรียนปกติเด็กจะเรียนในชั้นเรียนพิเศษ
6. ชั้นเรียนพิเศษในโรงเรียนปกติ
                      3.การเรียนรวมกับการเรียนร่วมแตกต่างกันตรงไหน
การเรียนรวม เด็กเลือกโรงเรียน ไม่ใช่โรงเรียนเลือกรับเด็กเหมือนอย่างเช่นการเรียนร่วม และเด็กทุกคนควรมีสิทธิจะเรียนรวมกันโดยทางโรงเรียนและครูจะต้องเป็นผู้ปรับสภาพแวดล้อม หลักสูตร การประเมินผล วัตถุประสงค์ ฯลฯ เพื่อครูและโรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนเพื่อสนองตอบความต้องการของนักเรียนทุกคนและเฉพาะบุคคลได้
https://docs.google.com/presentation/d/...m7604/embed?slide=id.i0 ได้กล่าวถึงการเรียน
รู้แบบเรียนรวมไว้ดังนี้...
              หลักการจัดการเรียนแบบเรียนรู้ มีดังนี้
                   1.โรงเรียนยอมรับและจัดการศึกษาสนองลักษณะที่แตกต่างกันของเด็ก
                   2.โรงเรียนมีมาตรการที่ทำให้มั่นใจได้ว่าเด็กทุกคนมีสิทธิและมีโอกาสเท่าเทียมกันที่จะเข้าถึงแหล่งความรู้
                   3.โรงเรียนจัดให้เด็กทุกคนได้เรียนในที่ต่าง ๆ ทั้งใน/นอกห้องเรียน
                   4.โรงเรียนใช้หลักว่าไม่มีครูคนใดที่เก่งพอที่จะสอนได้คนเดียวในชั้นเรียนที่มีเด็กหลายคนซึ่งมีลักษณแตกต่างกันได้
                   5.โรงเรียนต้องได้รับการบริหารจัดการในลักษณะยืดหยุ่นสามารถปรับให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็กผู้เรียนที่มีลักษณะหลากหลายได้
                    6.ครูและบุคลากรทุกคนต้องมีความมั่นใจและเชื่อมั่นในตัวเด็กนักเรียนทุกคนว่าจะสามารถเรียนรู้ได้ถึง มาตรฐานตามที่กำหนดไว้
                 7.โรงเรียนต้องมีกระบวนการประเมินผลการดำเนินงานเพื่อนำผลการประเมิน
ความสำคัญของการเรียนรวม
             การจัดการเรียนรวม สำหรับเด็กพิเศษที่เข้าเรียนรวมกับเพื่อนๆปกติแบบเคียงบ่าเคียงไหล่กันไป
จะส่งผลให้เด็กเรียนรู้ที่จะยอมรับซึ่งกันและกัน เด็กจะเข้าใจถึงความเหมือนและความไม่เหมือนในการอยู่ร่วมกัน เด็กปกติเรียนรู้ที่จะยอมรับความพิการของเพื่อนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา การยอมรับความพิการ การไร้ความสามารถ จึงเป็นเรื่องจำเป็น นอกจากนี้เด็กที่เรียนรวมนั้น จะได้รับประโยชน์จากการร่วมมือและความรู้สึกรับผิดชอบที่จะพัฒนาไปด้วยกันในชั้นเรียน การมีปฏิสัมพันธ์กันเช่นนี้จะส่งผลให้มีการยอมรับซึ่งกันและกันรู้สึกและตระหนักถึงความพิการได้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญเมื่อเด็กเหล่านี้ย่างเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตามเด็กที่เรียนในระบบ “Inclusion”ยังคงต้องได้รับการบริการศึกษาพิเศษไม่ว่าจะเป็นครูพิเศษ สื่อสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการทางการศึกษาพิเศษต่อเนื่องกันไป การเรียนในระบบนี้มิได้หมายความว่าจะลดบริการพิเศษต่างๆ ลงหากเพียงแต่มีการเปลี่ยนวิธีการจัดการและการให้บริการ
แนวคิดปรัชญาของการจัดการเรียนรวม
              การจัดการศึกษาแบบเรียนรวม เป็นการจัดให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษเรียนรวมกับเด็กปกติทั่วไปในชั้นเรียนของโรงเรียนทั่วไป เป็นการเสนอให้นักการศึกษาพิจารณาถึงคุณค่าของการพัฒนาชีวิตคนซึ่งจะต้องได้รับการพัฒนาทุกด้านของวิถีแห่งชีวิต เพื่อให้มีความสามารถ ความรู้ ทักษะในการดำรงชีวิตอยู่ในครอบครัว สังคมได้อย่างมีคุณค่าและมีความสุขอีกทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่กลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ให้ได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้น เพราะการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมนั้นเป็นการประหยัดและไม่ต้องรอคอยงบประมาณในการจัดซื้อที่ดิน การก่อสร้างอาคารเรียนซึ่งต้องสิ้นเปลืองเงินงบประมาณเป็นจำนวนมาก หากแต่จัดให้เด็กพิเศษได้แทรกเข้าไปเรียนในชั้นเรียนของโรงเรียนทั่วไปไม่ว่าจะเป็น ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ส่วนงบประมาณ ค่าอาคารสถานที่อาจผันให้เป็นเงินเดือนครูสอนเสริมสำหรับเด็กพิเศษ ถ้าสามารถทำได้ ก็จะเป็นผลดีกับทั้งเด็กและกำลังคนของรัฐอีกด้วย
แนวคิดในการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม
                1. ความยุติธรรมในสังคม (Social Justice) เด็กมีความต้องการพิเศษเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
เมื่อเด็กทุกคนได้รับการศึกษาในโรงเรียนปกติ เด็กที่มีความต้องพิเศษย่อมต้องการโอกาสกาได้รับการศึกษาในโรงเรียนปกติด้วย หากกีดกันไม่ให้เข้าเรียนในโรงเรียนทั่วไป
               2. การคืนสู่สภาวะปกติ (Normalization) หมายถึง การจัดสภาพใดๆ เพื่อให้เด็กที่มีความบกพร่องทางด้านต่างๆ สามารถได้รับบริการเช่นเดียวกับเด็กปกติ ในการข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของสังคม
                3. สภาพแวดล้อมที่มีข้อจำกัดน้อยที่สุด (Least RestrictiveEnvironment) ซึ่งสภาพแวดล้อมที่มีข้อจำกัดน้อยที่สุดจะเป็นผลดีกับเด็กมากที่สุดโดยเด็กได้รับผลประโยชน์มากที่สุดการเรียนรวมเป็น
                4. การเรียนรู้ (Learning) เด็กทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็กปกติหรือเด็กที่มีความต้องการพิเศษสามารถเรียนรู้
ได้ หากได้รับการสนับสนุนอย่างถูกต้องดังนั้นจึงต้องจัดวิธีการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับระดับความสามารถของแต่ละคน
ทฤษฎีพื้นฐานของการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม
               1. การจัดการเรียนรวมให้กับนักเรียนพิการหรือที่มีความบกพร่องนั้นจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อมีการจัดให้นักเรียนได้เรียนในสภาพแวดล้อมที่มีขีดจำกัดน้อยที่สุด (The Least Restrictive Environment : LRE)
               2.การจัดการเรียนรวมต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาอาชีพ (Transdisciplinary Team)และพ่อแม่หรือผู้ปกครองในลักษณะการรวมพลัง (Collaboration)
               3.การจัดให้นักเรียนพิการที่มีความแตกต่างเฉพาะบุคคลเข้าเรียนร่วมกับเด็กทั่วไปนั้นต้องอาศัยแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (Individualized Education Program : IEP)

สรุป
                การเรียนรวมหรือการเรียนร่วม เป็นการจัดการศึกษาให้เด็กพิเศษ ซึ่งหมายถึง เด็กที่มีปัญญาเลิศ เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน เด็กที่มีความบกพร่องทางการพูด เด็กที่มีความบกพร่องทางอารมณ์และพฤติกรรม เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็น เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้และเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา ได้มีโอกาสเรียนร่วมกับเด็กทั่วไปตามความสามารถและความต้องการพิเศษของแต่ละบุคคล เพื่อส่งเสริมให้ได้เรียนรู้และอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นๆในสังคมได้อย่างมีความสุขและมีความเท่าเทียมกันตามสิทธิมนุษยชน  สำหรับรูปแบบของการจัดการเรียนแบบเรียนร่วมนั้นมีหลากหลายรูปแบบตัวอย่างเช่น                     
- การเรียนร่วมอย่างสมบูรณ์ โดยเด็กพิเศษจะได้เข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติในโรงเรียนปกติ                      
- การเรียนร่วมบางเวลา เด็กพิเศษจะเข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติในบางรายวิชาและได้รับบริการพิเศษจากครูหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา                                                                                                                                                       
- การเรียนร่วมทางสังคม เป็นการให้เด็กพิเศษเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆกับเด็กปกติ เช่น กิจกรรมนันทนาการ งานสังสรรค์ของโรงเรียน งานแนะแนวการศึกษา แต่จะเรียนในชั้นพิเศษเฉพาะ หรืออาจจะมีการร่วมเรียนร่วมรู้โดยการจัดเป็นกิจกรรมกลุ่มขึ้นมาตัวอย่างเช่น                                          
- เพื่อนสอนเพื่อน ส่วนใหญ่จะเป็นการทบทวนในเนื้อหาที่เรียนไปแล้วซึ่งเด็กบางคนอาจเรียนไม่ทันหรือไม่เข้าใจในสิ่งที่ครูสอนก็จะได้เพื่อนช่วยชี้แนะอีกทางหนึ่ง                                                                                           
 - โครงงานกลุ่ม เช่น โครงงานวิทยาศาสตร์ โครงงานภาษาไทย โดยครูต้องกำหนดจุดมุ่งหมายและดำเนินงานตามขั้นตอน เมื่อสิ้นสุดระยะเวลานักเรียนจะต้องนำเสนอโครงงานที่ทำ อาจจะใช้เวลาในการทำงานมากกว่ากิจกรรมอื่น                                                                                                                                                   
การต่อชิ้นส่วน เป็นการมอบหมายให้ผู้เรียนมีบทบาทเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อทำงานที่ได้รับมอบหมายเสร็จก็นำงานแต่ละส่วนมารวมกันเป็นงานชิ้นใหญ่ที่เป็นระเบียบและมีความสมบูรณ์ครบถ้วน    
 - ผลสัมฤทธิ์ของทีมงาน โดยแบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มประมาณ 4 คน  ให้ผู้เรียนทุกคนร่วมกันอ่านเนื้อหาวิชาในส่วนที่ได้รับมอบหมาย ถ้าเพื่อนในกลุ่มคนใดไม่เข้าใจ เพื่อนที่เหลือในกลุ่มต้องช่วยกันอธิบายจนกว่าจะเข้าใจในเนื้อหาได้ครบทุกคน เมื่อเข้าใจหมดทุกคนแล้วจะมีการสอบเป็นรายบุคคล คะแนนของทุกคนจะถูกนำมาเฉลี่ยเป็นคะแนนกลุ่ม หากกลุ่มใดคะแนนต่ำ สมาชิกในกลุ่มต้องกลับไปเรียนรู้ใหม่จนกว่าจะสอบได้คะแนนตามเกณฑ์                                                               การเรียนร่วมทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีสำหรับการเรียนรวมคือ                                                                   
1.ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีขึ้น                                                                                                                     
2.เพิ่มการยอมรับนับถือในตนเองว่าตนเองมีคุณค่า ความสามารถ                                                                          
3.เป็นการเรียนรู้ที่มีชีวิตชีวา                                                                                                                                               
4. เป็นการพัฒนาทักษะทางสังคม                                                                                                                                
5.ส่งเสริมทักษะในการผูกมิตรและการยอมรับจากเพื่อน                                                                                          
6.ลดการแข่งขันและการเอาเปรียบผู้อื่น
              ข้อเสียสำหรับการเรียนร่วมคือ                                                                                                                                         
1.อาจเสียความเป็นระเบียบในชั้นเรียน                                                                                                                         
2.เด็กเรียนเก่งอาจจะรู้สึกว่าเสียเวลา แต่ครูควรชี้แจงให้เด็กเก่งเข้าใจและรู้จักการทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคม เราควรมีการปรับสภาพแวดล้อมเพื่อให้การเรียนร่วมประสบผลสำเร็จ เพื่อเอื้ออำนวยต่อลักษณะการเรียนรู้ของเด็ก โดยปรับสภาพแวดล้อมใน ด้านคือ ด้านกลยุทธ์การเรียนการสอน ด้านการวัดและประเมินผล และด้านการจัดการกับพฤติกรรมเด็ก       

อ้างอิง
ฉวีวรรณ โยคิน.[Online] (http://61.19.246.216/~nkedu2/?name=webboard&file=read&id=177). การศึกษาแบบเรียนรวม.สืบค้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2558.
จินตหรา  เขาวงค์.[Online] (http://khaowongmsu.blogspot.com/2010/10/blog-post.html).การเรียนรวมและการเรียนร่วม.สืบค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2558.
 https://docs.google.com/presentation/d/...m7604/embed?slide=id.i0.ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการศึกษาแบบเรียนรวม.สืบค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2558.




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น